วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2024

ชายแดนใต้ : คาร์บอมบ์ลูกที่ 2 ในปี 65 โจมตีแฟลตตำรวจในนราธิวาส เชื่อจงใจ “ยกระดับความรุนแรง” – BBC News ไทย

กู้ภัยเมตตาธรรมนราธิวาส

ที่มาของภาพ, กู้ภัยเมตตาธรรมนราธิวาส

คำบรรยายภาพ,

แฟลตตำรวจใน จ.นราธิวาส เสียหายหนัก

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ วิเคราะห์ เหตุคาร์บอมบ์โจมตีแฟลตตำรวจ เป็นการโจมตี “เชิงสัญลักษณ์” และ “ยกระดับความรุนแรง” หลังการเจรจาสันติภาพไร้ความคืบหน้า

จากเหตุระเบิดบริเวณแฟลตตำรวจ สภ.เมือง จ.นราธิวาส วานนี้ (22 พ.ย.) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นตำรวจ 1 นาย บาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 36 คน สาหัส 2 ราย ถือเป็นเหตุระเบิดรถยนต์ครั้งแรก ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบหลายเดือน และลูกที่ 2 ในปีนี้

เย็นวานนี้ (23 พ.ย.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผช.ผบ.ตร. ได้เดินทางมาดูจุดเกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ภายในแฟลตตำรวจ ซึ่งตั้งอยู่ ถ.สุริยะประดิษฐ์ เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส

เบื้องต้น พบว่า กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไว้ในบริเวณแฟลตตำรวจ สามารถบันทึกภาพของคนร้ายเอาไว้ได้ โดยเชื่อว่าคนร้ายน่าจะมีการดูลาดเลามาแล้วหลายครั้ง ซึ่งประเมินได้จากการแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ส่วนความเสียหายนั้น มีรถยนต์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จอดไว้ 2 ฝั่ง ของอาคารแฟลต 2 ชั้นและ 4 ชั้น ได้รับความเสียหายกว่า 10 คัน โดยเฉพาะอาคารแฟลต 2 ชั้น ได้รับความเสียหายทั้งชั้นบนและชั้นล่างถึง 8 ห้อง นอกจากนี้ ยังมีซากเศษชิ้นส่วนของระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายประกอบใส่ไว้ในถังแก๊สหุ้งต้ม หนัก 50 กก. จุดชนวนด้วยการตั้งเวลา

“คดีคืบหน้าไปพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่ขอบอกรายละเอียด” พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กล่าว ส่วนการวิตกถึงการกลับมาของคาร์บอมบ์นั้น ผบ.ตร. ยืนกรานว่า จะหามาตรการป้องกันและเฝ้าระวังอย่างจริงจังต่อไป

“คนร้ายที่ก่อเหตุน่าจะมีการมาสำรวจก่อน พร้อมทั้งแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่จึงไม่มีใครสงสัย ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียน เรามาตั้งมาตรการป้องกัน เฝ้าระวังไม่ให้เกิดขึ้นมาซ้ำ”

ยกระดับความรุนแรง ?

เหตุระเบิดคาร์บอมบ์นั้นเกิดไม่บ่อยนัก และถือว่าเป็นความรุนแรงสูงสุดของสถานการณ์ไฟใต้ โดยคาร์บอมบ์ที่เกิดขึ้นที่แฟลตตำรวจ ถือเป็นลูกแรกในรอบ 6 ปี จึงทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุพยายามยกระดับความรุนแรงขึ้นหรือไม่

ต่อประเด็นนี้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” โดยตั้งข้อสังเกตว่า เหตุโจมตีครั้งนี้ อาจเป็นการตอบโต้กลับเจ้าหน้าที่รัฐ หลังมีการ “ปิดล้อม ตรวจค้น และวิสามัญฆาตกรรม” สมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

“เข้าใจว่าเป้าหมายหลักคือการโจมตีตำรวจ… เป็นการมุ่งเน้นเป้าหมายที่เข้มแข็ง” ผศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุ แต่ยอมรับว่า การโจมตีแฟลตตำรวจที่มีครอบครัวของเจ้าหน้าที่อาศัยอยู่ ดูขัดแย้งกับพฤติการณ์ก่อนหน้านี้ของกลุ่มผู้ก่อเหตุ ที่เลี่ยงทำร้ายประชาชน

ที่มาของภาพ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

คำบรรยายภาพ,

ผบ.ตร. เร่งลงพื้นที่

สาเหตุที่เลือกแฟลตตำรวจ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มองว่า เพราะเป็นเป้าหมายที่มีการป้องกันและเฝ้าระวังน้อยที่สุดของฝ่ายทหารและตำรวจ น้อยกว่าสถานีตำรวจหรือป้อมทหาร

กลุ่มผู้ก่อเหตุมีเจตนาชัดเจนที่จะ “ยกระดับเหตุการณ์ให้รุนแรงขึ้น” เพื่อเป็นการโจมตีเชิงสัญลักษณ์ ตอบโต้ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ในห้วงเวลาที่การเจรจาสันติภาพยังไม่มีผลเป็นรูปธรรม และไม่มีความคืบหน้า

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ศรีสมภพ วิเคราะห์ว่า การเจรจาสันติภาพจะยังไม่คืบหน้ามากนัก เพราะประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในต้นปีหน้า ขณะที่มาเลเซียเองก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง

คาร์บอมบ์แรกใน 5 เดือน

เพจ “นราธิวาส” ซึ่งเป็นเพจสำนักข่าวประจำภาคใต้ รายงานว่า วานนี้ (22 พ.ย.) เวลา 12.45 น. ได้เกิดเหตุระเบิดบริเวณแฟลตตำรวจ สภ.เมืองนราธิวาส ถ.สุริยะประดิษฐ์ เทศบาลเมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส

พฤติการณ์การก่อเหตุ มีรายงานว่า ผู้ก่อเหตุอย่างน้อย 1 คน แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ นำรถยนต์กระบะประกอบระเบิด หรือ “คาร์บอมบ์” ไปจอดไว้บริเวณแฟลตตำรวจ จากนั้นจึงเกิดระเบิดขึ้น

ตามข้อมูลของสำนักข่าวอิศราพบว่า คาร์บอมบ์ครั้งล่าสุด ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นเมื่อวันเดือน มิ.ย. 2565 ใกล้กับป้อมตำรวจ “หน่วยบริการประชาชนจันทรักษ์” ท้องที่บ้านปาลัส ต.ควน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และถือเป็นคาร์บอมบ์ลูกแรกในปี 2565

ดังนั้น เหตุคาร์บอมบ์ที่เกิดใน จ.นราธิวาส วันที่ 22 พ.ย. จึงถือเป็นคาร์บอมบ์ลูกที่ 2 ในปีนี้ และลูกแรกในรอบ 5 เดือน และเป็นลูกที่ 60 นับแต่สถานการณ์ “ไฟใต้” ปะทุขึ้นในปี 2547

สำหรับระเบิดรถยนต์นั้น ถือเป็นความรุนแรงระดับสูงสุดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำนักข่าวอิศรา ยังรายงานสถิติอีกว่า เฉลี่ยแล้ว จะเกิดคาร์บอมบ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เฉลี่ยปีละ 1 ลูก ดังนี้

วันที่ 17 มี.ค.63 – เกิดระเบิดคาร์บอมบ์ขึ้นที่บริเวณหน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยคนร้ายได้ขับรถยนต์กระบะตอนเดียวสภาพเก่า ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไมตี้เอ็กซ์ สีขาว ไม่ทราบหมายเลขทะเบียน ดัดแปลงประกอบระเบิดเป็นคาร์บอมบ์ ไปจอดไว้ที่หน้าป้าย ศอ.บต. หลังจากนั้นจึงได้ระเบิดขึ้น แรงระเบิดทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักข่าว และประชาชนทั่วไปได้รับบาดเจ็บ 25 ราย

วันที่ 12 มี.ค.64 – กลุ่มคนร้ายก่อเหตุปล้นรถกระบะขนส่งพัสดุภัณฑ์ “เคอรี่” ที่มี นายบัยฮากี หลงลูวา เป็นคนขับ เหตุเกิดขณะขับรถไปส่งพัสดุที่บริเวณแยกปารามิแต บ้านรั้วตะวัน หมู่ 7 ต.บุดี อ.เมือง จ.ยะลา กลุ่มคนร้ายได้นำตัวคนขับไปมัดไว้ แล้วนำระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบใส่ถังแก๊ส จำนวน 2 ถัง มาใส่ไว้รถกระบะ แล้วขับไปจอดทิ้งบริเวณริมถนน ด้านหลัง สภ.รามัน จ.ยะลา ใกล้กับแฟลตตำรวจ สภ.รามัน

และหากรวมเหตุคาร์บอมบ์ในครั้งนี้ จะแบ่งสถิติเกิดคาร์บอมบ์ ได้ดังนี้

  • จ.นราธิวาส เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 24 ครั้ง
  • จ.ยะลา เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 14 ครั้ง
  • จ.ปัตตานี เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 17 ครั้ง
  • 4 อำเภอของ จ.สงขลา เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 4 ครั้ง

*ขอบคุณข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา

คาร์บอมบ์หลังวิสามัญฯ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงใน จ.นราธิวาส

ช่วงวันที่ 19-20 พ.ย. เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ จ.นราธิวาส เปิดปฏิบัติการติดตามตัวผู้ก่อเหตุลอบวางระเบิดและยิงซ้ำชาวบ้านหาของป่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย. โดยปฏิบัติการที่บริเวณเชิงเขาบ้านไอร์ราฆอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส

เกิดการยิงปะทะกันและมีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเสียชีวิต คือ นายฮาซัน อาแว โดยศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ระบุว่า นายฮาซัน เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีลอบวางระเบิดในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2562

เจ้าหน้าที่ยังตรวจยึดอาวุธปืนสงคราม เครื่องกระสุน รวม 5 รายการ บริเวณที่เกิดเหตุ

ที่มาของภาพ, เพจ “นราธิวาส

คำบรรยายภาพ,

คาร์บอมบ์ บริเวณแฟลตตำรวจใน จ.นราธิวาส

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่กรุงเทพฯ กำลังเตรียมการเข้าสู่ช่วงของการประชุมผู้นำเอเปคได้เกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อย่างน้อย 5 เหตุการณ์ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 13 พ.ย. เป็นต้นมา ได้แก่

  • เหตุลอบยิงคนหาของป่าก่อนวางระเบิดซ้ำเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าตรวจสอบเหตุ เสียชีวิต 1 ราย ที่ อ.จะแนะ จ. นราธิวาส (13 พ.ย.)
  • เหตุเผาสถานีบริการน้ำมัน 2 แห่ง ใน อ.เมือง และ อ.ยะหริ่ง ของ จ.ปัตตานี  (15 พ.ย.)
  • เหตุเผาสายไฟฟ้าที่ อ.รามัน จ.ยะลา (15 พ.ย.)
  • เหตุระเบิดบริเวณสามแยก ทางเข้าโรงเรียนบ้านคาโตหมู่ 5 ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี (16 พ.ย.)
  • เหตุลอบขว้างระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์ หวังโจมตีชุดคุ้มครองตำบลรือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต (16 พ.ย.)

เหตุรุนแรงต่อเนื่องเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2  

เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่อเนื่องเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา รายงานความเห็นของ พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ว่า สิ่งที่เป็นความมุ่งหมายของกลุ่มผู้ก่อเหตุมาโดยตลอดคือการทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาล “ในช่วงนี้เป็นช่วงใกล้การประชุมเอเปค อาจจะมีส่วนที่เขาพยายามก่อเหตุเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ”

สำนักข่าวอิศรา ยังรายงานอ้างผู้ใกล้ชิดแกนนำกลุ่มขบวนการพูโลและบีอาร์เอ็น ว่าเหตุที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับการประชุมเอเปค

“เหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวข้องกับปาตานีเท่านั้น” และ “BRN ยืนยันว่าเป็นการตอบโต้จาก BRN สืบเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเอเปค” ผู้ใกล้ชิดกับแกนนำบีอาร์เอ็น และอยู่ในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯกับรัฐบาลไทย ระบุเมื่อ 14 และ 16 พ.ย.

ที่มาของภาพ, กู้ภัยเมตตาธรรมนราธิวาส

คำบรรยายภาพ,

เหตุระเบิดในวันที่ 22 พ.ย.

ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิชาการประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ วิเคราะห์กับบีบีซีไทยเมื่อ 17 พ.ย. ว่าบีอาร์เอ็นมีนโยบายที่จะไม่ยอมรับหรือปฏิเสธการปฏิบัติการทางการทหารมาโดยตลอด ฉะนั้น ไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าบีอาร์เอ็นเป็นผู้ก่อเหตุหรือไม่ได้อย่างชัดเจน 

“แต่รูปแบบของการก่อเหตุ เช่น การบุกไปเผาปั๊มน้ำมัน  เผาตู้ชุมสายโทรศัพท์ เป็นรูปแบบการก่อเหตุที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของกลุ่มบีอาร์เอ็นคือการโจมตีเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่พวกเขามองว่าเป็นฐานเศรษฐกิจของฝ่ายรัฐไทย” 

ดร.รุ่งรวี กล่าวด้วยว่า จากรายงานข่าวที่ว่าคนก่อเหตุได้ตะโกนบอกให้คนออกไปจากปั๊มน้ำมันก่อนเกิดเหตุ มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์วันที่ 16-17 ส.ค. ที่ผ่านมา

“บีอาร์เอ็นจะเน้นการส่งสัญญาณทางการเมืองมากกว่าการทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย  เพราะการมีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจำนวนมากจะส่งผลเสียต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบีอาร์เอ็นซึ่งต้องการสร้างพันธมิตรกับประชาคมนานาชาติ”

เมื่อถามว่าเกี่ยวกับเอเปคหรือไม่  ดร.รุ่งรวี  ชี้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าการเลือกช่วงเวลาในการปฎิบัติการทางการทหารในครั้งนี้จะมีความสัมพันธ์กับการประชุมเอเปค เพราะจะเป็นช่วงเวลาที่ความสนใจของประชาคมโลกพุ่งมายังประเทศไทยมากเป็นพิเศษ  ซึ่งก็อาจจะส่งผลให้เกิดความสนใจในปัญหาในภาคใต้มากขึ้น 

ส่วนประเด็นการเลือกตั้งมาเลเซีย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง การเปลี่ยนผู้ประสานงาน ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ช่วงจังหวะเวลาการก่อเหตุไม่น่าเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ยะลา

ยะลา

ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน

Related Posts

Next Post

บทความ แนะนำ

No Content Available

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.