“เทศกาลตรุษจีน” หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่าเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ และเป็นที่รู้จักในวงกว้างนามวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีของชาวจีน มีสัญลักษณ์บ่งบอกการมาถึงของเทศกาลนี้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น อั่งเปา ส้ม เครื่องไหว้ ซึ่งหนึ่งในเครื่องไหว้ที่จะขาดไม่ได้เลยคือ “ไก่ต้ม” โดยไก่ต้มที่ได้รับความนิยมสูงตลอดกาล ตามสมญานามที่ว่า เนื้อนุ่ม หนังกรอบ หนีไม่พ้น.. “ไก่เบตง”
“‘ไก่เบตง’ เดิมเป็นไก่เนื้อสายพันธุ์ที่ชาวจีนอพยบนำเข้ามาในประเทศไทยกว่า 100 ปีแล้ว ปัจจุบันเป็นสัตว์เศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเมืองเบตง จังหวัดยะลา ที่ถือเป็นของดีประจำถิ่น แต่ด้วยขั้นตอนการเลี้ยงที่ยากมาก ต้องใช้ต้นทุนสูง ระยะเวลาในการเลี้ยงก็นานถึง 6 เดือน ระหว่างทางไก่ล้มหายตายจากบ้าง ขนาดไม่ได้มาตรฐานบ้าง กว่าจะนำออกวางจำหน่ายบางครั้งขาดทุน เกษตรกรหลายรายจึงจำใจต้องหันหลังให้กับอาชีพนี้ แม้ว่า ไก่เบตงจะได้รับความต้องการสูงในท้องตลาด และเป็นไก่เนื้อที่ขายได้ราคาสูงในประเทศไทยก็ตาม” นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง เจ้าของกิจการ บริษัท ไก่โต้งเบตง ยะลา จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายไก่เบตง แบรนด์ “โกโต้ง” หนึ่งในเกษตรกรเลี้ยงไก่เบตง กล่าว
นายเกรียงศักดิ์ เล่าต่ออีกว่า การเลี้ยงไก่เบตงต้องอาศัยความชำนาญเข้าใจพฤติกรรมของไก่ และตนเองโชคดีตั้งแต่เด็กได้คลุกคลีช่วยคุณพ่อเลี้ยงไก่ เดิมทีเลี้ยงเพื่อส่งเข้าประกวด การดูแลในแต่ละวันจึงต้องใกล้ชิดกว่าการเลี้ยงไก่ปกติ นานวันเข้า กลายเป็นความผูกพัน อยากรักษาพันธุ์ไก่เบตงไว้ให้อยู่คู่บ้านเกิดเมืองนอน เมื่อเติบใหญ่เรื่องการศึกษาจึงมุ่งเรียนไปทางการเกษตร เพื่อหวังกลับมาพัฒนาต่อยอดความฝันอย่างที่ตั้งใจ
“ในวงการเกษตรกรทุกคนรู้ดีว่าไก่เบตงเลี้ยงยาก จบมาใหม่ๆ จึงยังไม่กล้าเปิดฟาร์มเลี้ยงโดยตรง การเริ่มต้นเป็นเกษตรกรเต็มตัวของผมจึงเริ่มจากเปิดฟาร์มเลี้ยงหมู แล้วเอาไก่เบตงกว่า 400 ตัวปล่อยเลี้ยงในฟาร์มหากินตามธรรมชาติ จนกระทั่งปี 2560 มีหน่วยราชการลงมาตรวจดูมาตรฐานฟาร์ม พร้อมแนะนำให้ยกระดับการเลี้ยง ผมตัดสินใจซื้อที่เพิ่มเปิดฟาร์มไก่เบตงทันที โดยเนื้อที่กว่า 5 ไร่ บริหารจัดการแบบอุตสาหกรรมครบวงจร ทั้งนี้ เพื่อต้องการลดต้นทุนในการผลิตระยะยาว คือมีโรงเรือน โรงเชือด ห้องเย็น เรียกได้ว่าฟักไข่เอง เลี้ยงเอง ขายเอง สร้างจุดเด่นไก่เบตงคุณภาพดี ขายในราคาสบายกระเป๋า” นายเกรียงศักดิ์เล่าย้อนที่มาที่ไปของฟาร์มไก่เบตงในปัจจุบัน
แต่ใครจะรู้ เกษตรกรที่มองการณ์ไกล บริหารจัดการฟาร์มแบบครบวงจรจนสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้จริง เมื่อถึงเวลานำผลผลิตไก่เบตงจากฟาร์มออกวางจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาด กลับขายไม่ได้ กระแสตีกลับจากราคาที่ถูกเกินไป ความน่าเชื่อถือของฟาร์มถูกผู้บริโภคตีเป็นศูนย์
“ตอนนั้นผมงงมากที่ไก่ขายไม่ได้เพราะราคาถูก บางคนบอกราคานี้ไม่ใช่ไก่เบตงพันธุ์แท้ การทำให้ลูกค้าเชื่อใจไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ แต่จะทำยังไงให้ได้ใจลูกค้าละ ผมตัดสินใจเดินเข้าหาทำการตลาดแบบปากต่อปากทันที เข้าร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเวลามีงานหรือเทศกาลสำคัญ เสนอตัวออกบูธทำข้าวมันไก่ ไก่ต้ม แจกฟรี คนนั้นชิมคนนี้ชม เกือบปีที่สู้ฟันฝ่ากว่าจะผ่านจุดนี้มาได้ ในที่สุดก็เป็นที่ยอมรับของตลาด เป็นฟาร์มไก่เบตงที่คนให้ความเชื่อถือในมาตรฐาน จนสามารถขยายตลาดส่งจำหน่ายตามต่างจังหวัดทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่ ปทุมธานี สุพรรณบุรี ตาก และ นครปฐม เป็นต้น ยอดขายโดยรวมต่อปีกว่า 1,000 ตัว” นายเกรียงศักดิ์กล่าวอย่างภูมิใจ
สำหรับเกษตรกรที่เปิดฟาร์มไก่เพียงไม่กี่ปี นับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ ผลผลิตได้ยอดขายดีเป็นไปตามเป้า คุณภาพไก่เบตงแท้ตามมาตรฐาน หนำซ้ำเพาะเลี้ยงด้วยระบบอุตสาหกรรมขนาดไก่ที่ได้ก็ใหญ่กว่าตามท้องตลาด ความนิยมความต้องการสูงขึ้นไปอีก เรียกได้ว่าผลิตออกมาแทบไม่พอขาย
ทว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 เกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 สถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด คุณเกรียงศักดิ์ก็เช่นกัน ไก่เบตงกว่า 10 ตัน นอนแช่แข็งขายไม่ได้ จะปล่อยให้เน่าเสียไปวันๆ ก็เกินทำใจ ฮึดสู้ขึ้นอีกครั้ง
“ไก่ 10 ตัน ตอนนั้นคิดอย่างเดียวต้องทำอะไรก็ได้ไม่ให้เน่าเสีย เพราะกว่าจะเลี้ยงมาได้ขนาดนี้ การแปรรูปจึงเป็นทางออก ทำไก่ต้มถอดกระดูกโดยคิดค้นสูตรเฉพาะของฟาร์มเอง แน่นอนคุณสมบัติขึ้นชื่อของไก่เบตงคือหนังหนาเนื้อนุ่ม แต่จะทำยังไงให้หนังหนาๆ กรุบกรอบ ทดลองต้มแล้วต้มอีกอยู่หลายหม้อ ในที่สุดก็ได้สูตรเด็ด ‘ต้ม 1 น็อค 2’ นั่นก็คือ ต้มไก่ในน้ำเดือดประมาณ 45 นาที ถึง 2 ชั่วโมง แล้วนำไก่มาน็อคน้ำแข็งแช่ไว้ 1 คืน จากนั้นทำการถอดกระดูก นำไก่ที่ถอดกระดูกแล้วไปน็อคน้ำแข็งอีก 1 คืน จึงบรรจุถุงสุญญากาศออกวางจำหน่ายภายใต้ แบรนด์ “โกโต้ง” ไก่เบตง 100 ตัว ใช้เวลาแปรรูปประมาณ 2-3 วัน ทำวนไป ส่วนใดขายไม่ทันก็แจกฟรี พยายามให้เน่าเสียน้อยที่สุด” นายเกรียงศักดิ์เล่าย้อนถึงวิธีการบริหารจัดการและที่มาของสูตรเด็ดแสนอร่อยที่นำมาต่อยอดแตกไลน์สินค้าสร้างรายได้เข้าฟาร์มอีกทางหนึ่ง
จุดเด่นของไก่เบตง แบรนด์ โกโต้ง คือ คงรสชาติความอร่อยแบบต้นตำรับอาหารดังคู่เมืองยะลา เนื้อนุ่น หนังกรอบ และมันน้อย มีทั้งขายแบบทั้งตัว และแบบสับหันเป็นชิ้นพอดีคำ พร้อมน้ำจิ้ม บรรจุถุงสุญญากาศ รับประทานได้ง่าย สะดวกสบาย เหมาะซื้อไปของฝาก หรือจะใช้ในเทศกาลตรุษจีน
เจ้าของธุรกิจ ยังเผยเทคนิคต้มไก่เบตงให้หนังกรอบอร่อย ว่า การต้มไก่ต้องดูอายุและเพศของไก่ด้วย ถ้าอายุน้อยไม่ถึง 6 เดือน ต้มเพียง 45 นาทีก็พอ และต้มต้องแยกเพศไก่ หม้อตัวเมียก็ตัวเมีย หม้อตัวผู้ก็ตัวผู้ สูตรนี้จึงจะได้ไก่เบตงหนังกรอบเนื้อนุ่มอร่อยหวานละมุนลิ้นของจริง
ปัจจุบันผลผลิตแบรนด์โกโต้ง จากฟาร์ม บริษัท ไก่โต้งเบตง ยะลา จำกัด มีวางจำหน่ายทั้ง ไก่เบตงล้วงไส้ ตัวผู้จำหน่ายกิโลกรัมละ 170 บาท ตัวเมียจำหน่ายกิโลกรัมละ 180 บาท, ไก่เบตงต้มถอดกระดูกสับพร้อมน้ำจิ้ม บรรจุถุงสุญญากาศ จำหน่ายกิโลกรัมละ 650 บาท บริการจัดส่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นผู้รับจ้างผลิต OEM ให้กับแบรนด์อื่น ภายใต้ระบบการผลิตที่ทันสมัยได้มาตรฐาน Good Manufacturing Practice : GMP สินค้ามาตรฐานมีเครื่องหมายฮาลาล
“กับอุปสรรคที่เกิดขึ้นผมไม่เคยย่อท้อ ใจคิดอย่างเดียว คือ อยากอนุรักษ์พันธุ์ไก่เบตงไว้ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้คนในชุมชนอย่างนี้ตลอดไป แต่แน่นอนผมโตคนเดียวไม่ได้ต้องมีแขนขาคอยพยุง โดยเฉพาะด้านเงินทุน ผมดีใจมากที่ภาครัฐให้การดูแลมองเห็นถึงความตั้งใจจริงของผม เข้ามาช่วยเหลือเป็นแหล่งเงินทุนที่มั่นคง โดยได้รับวงเงินจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี พร้อมทั้ง ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ยังได้รับการพักชำระหนี้ นับเป็นการแบ่งเบาช่วยลดภาระผู้ประกอบการอย่างดีเยี่ยมครับ”
สำหรับโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบันนี้ นายเกรียงศักดิ์ ก็หวังเพียงแต่ว่าเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง จะมียอดออเดอร์หลั่งไหลเข้ามาช่วยกระเตืองให้ธุรกิจสามารถประคองนำพาชีวิตของลูกน้องอีกกว่า 30 ชีวิตรอดเดินหน้าต่อไปได้ เพราะตั้งแต่เปิดฟาร์มมานายเกรีรยงศักดิ์บอกเลยว่า “ปัญหาอุปสรรคทุกอย่างที่ผ่านมาผมไม่เคยคิดเอาคนงานออก ทุกชีวิตในฟาร์มคือครอบครัวของผม ผมต้องพาทุกคนไปให้รอด”