จังหวัดยะลา เป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย ภูมิประเทศโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นภูเขา เนินเขาและหุบเขา พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยป่าดงดิบ และสวนยางพารา ทำให้ยางพารากลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ที่สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่
ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก อีกทั้งพื้นที่ภาคใต้ยังเป็นพื้นที่ ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าใกล้เคียงกับความต้องการใช้ไฟฟ้า และมีแนวโน้มจะขาดแคลนไฟฟ้าในอนาคต หากเศรษฐกิจในพื้นที่ขยายตัว ตามภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยังคงเกิดกระแสต่อต้านจากคนในพื้นที่ ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ส่งผลให้แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยังคงถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
โครงการ โรงไฟฟ้าชีวมวล กัลฟ์ ยะลา กรีน
ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับคนยะลา ภาครัฐจึงมีนโยบายสนับสนุนให้ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมเข้าไปลงทุนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดยะลา รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กจากพลังงานทดแทน ที่นอกจากจะช่วยขับเคลื่อนการลงทุนผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจแล้ว ยังจะก่อให้เกิดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ด้วย
โครงการ โรงไฟฟ้าชีวมวล กัลฟ์ ยะลา กรีน ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท กัลฟ์ ยะลา กรีน จำกัด จึงเกิดขึ้นด้วยการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ โดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ออกมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในอัตรา 0.18 บาทต่อหน่วย และได้รับเงินส่วนเพิ่ม สำหรับผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ในอัตรา 1 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปี หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการดึงดูดนักลงทุน ให้เข้าลงทุนมาในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาความไม่สงบ
นอกจากนี้ทาง บริษัท กัลฟ์ ยะลา กรีน จำกัด ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ คือ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในช่วง 2 ปีแรก ของการเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า เป็นวงเงิน 68 ล้านบาท
รวมถึงประเทศไทยได้มีการกำหนด นโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2555-2573 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (PDP 2010) ได้กำหนดให้มีสัดส่วนของกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มใหม่ จากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 25% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นรวม 55,130 เมกะวัตต์ โดยมีโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวล เท่ากับ 2,602.20 เมกะวัตต์ ซึ่งรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบของ โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และ โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP)
อีกทั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีโรงเลื่อยไม้ยางเป็นจำนวนมาก จึงมีเศษไม้ยางจากโรงเลื่อย และกิ่งไม้ขนาดเล็ก ส่งไปขายนอกพื้นที่เป็นจำนวนมาก นับว่ามีโอกาสทางธุรกิจของโรงไฟฟ้าชีวมวล แต่จะต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่ตั้งที่เหมาะสม ระบบการขนส่งเชื้อเพลิง แหล่งน้ำ และสายส่งไฟฟ้า
โครงการโรงไฟฟ้า กัลฟ์ ยะลา กรีน ริเริ่มขึ้นเมื่อเดือน พฤษภาคม 2546 โดยได้รับการอนุมัติในการขายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP FIRM) กำลังการผลิตติดตั้ง 23 เมกะวัตต์ ปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญา 20.2 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี
ในเดือน สิงหาคม 2547 ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้าง ก่อสร้างโครงการ ต่อมาเดือน สิงหาคม 2549 การก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มต้นทดสอบเครื่องจักร และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 เป็นต้นมา รวมระยะเวลาการดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 15 ปี ซึ่งยังเหลือเวลาอีก 10 ปี ก่อนที่โรงไฟฟ้าจะสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
โครงการโรงไฟฟ้า กัลฟ์ ยะลา กรีน มีมูลค่าการลงทุนรวม 1,500 ล้านบาท โดยเป็นเงินลงทุนจากผู้ถือหุ้นจำนวน 500 ล้านบาท และเป็นเงินสินเชื่อระยะยาวอีกจำนวน 1,000 ล้านบาท
ในปี 2563 ระบบการผลิตไฟฟ้าของ โรงไฟฟ้า กัลฟ์ ยะลา กรีน มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพสูง โดยใช้เศษไม้เป็นเชื้อเพลิงเพียง 273,960 ตันต่อการผลิตไฟฟ้า 181,830 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) สามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ 165,025 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) ไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบมีค่าเฉลี่ยตลอดปี 20 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าพลังไฟฟ้าสูงสุดที่สามารถจ่ายได้ 20.20 เมกะวัตต์ เพียง 0.20 เมกะวัตต์ ทำให้ กฟผ. สั่งการให้เดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่พลังสูงสุด 100% ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นคงของไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
โรงไฟฟ้า กัลฟ์ ยะลา กรีน จึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงาน ให้กับคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยพนักงานส่วนใหญ่ที่ทำงานภายในโรงไฟฟ้าจะเป็นคนจากในพื้นที่ และเนื่องจากโรงไฟฟ้าต้องใช้ไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ทำให้ในพื้นที่ดังกล่าวเกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น เป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนในอีกทางหนึ่งเช่นกัน
โรงไฟฟ้า กัลฟ์ ยะลา กรีน เป็น โรงไฟฟ้าประเภทพลังความร้อน (Thermal Power Plant) ถูกออกแบบโดยให้ความสำคัญและคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันกับชุมชน สิ่งแวดล้อม และประสิทธิภาพ โดยมีการแบ่งเป็นพื้นที่โรงผลิตกระแสไฟฟ้า พื้นที่เก็บเศษไม้ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่สีเขียว ซึ่งได้แก่ แหล่งเก็บสำรองน้ำดิบ อาคารสำรองเชื้อเพลิงเศษไม้ พื้นที่สีเขียว และอาคารสำนักงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพทางเทคนิคในการกระบวนการผลิตไฟฟ้า ดังนี้
ระบบเก็บสำรองและลำเลียงเชื้อเพลิง เป็นระบบปิด เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นไม้ โดยสามารถส่งเชื้อเพลิงไม้สับเพื่อเข้าหม้อไอน้ำได้ 2 ทาง คือ ระบบลำเลียงหลัก โดยเมื่อผ่านเครื่องสับไม้แล้วลำเลียงจากไซโลด้วยระบบสกรู สายพานลำเลียง และโซ่ลำเลียง ไปยังหม้อไอน้ำ (Boiler)
ส่วนระบบลำเลียงสำรอง สำหรับไว้ใช้ในกรณีที่ระบบลำเลียงหลักขัดข้อง หรือหยุดซ่อมบำรุง โดยนำไม้สับที่ผ่านเครื่องสับไม้แล้ว ไปเก็บในอาคารเก็บไม้สับ หลังจากนั้นจึงใช้รถตัก ระบบสกรู สายพานลำเลียง และโซ่ลำเลียงไปยังหม้อไอน้ำ โดยระบบลำเลียงไม้สับทั้ง 2 ทาง สามารถใช้งานทดแทนกันได้
ระบบผลิตไฟฟ้าพลังความร้อน กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า จัดเป็นประเภทพลังความร้อน (Thermal Power Plant) โดยมีคุณภาพไอน้ำ ความดันสูง ใช้ ระบบกังหันไอน้ำ (Condensing Steam Turbine) ทำให้มีความพร้อมจ่ายไฟฟ้า อยู่ที่ 7,971 ชั่วโมงต่อปี เป็นอย่างน้อย และมีอัตราการใช้เชื้อเพลิงเศษไม้ ประมาณ 800 ตันต่อวัน ทำให้มี อัตราส่วนความสามารถใน การผลิตพลังงานไฟฟ้าได้จริง (Plant Capacity Factor) สูงระดับ 100%
ระบบบำบัดน้ำใช้และน้ำทิ้ง โรงไฟฟ้ามีความต้องการใช้น้ำประมาณวันละ 1,500 ลูกบาศก์เมตร เพื่อทดแทนน้ำของหอหล่อเย็น เพื่อเติมหม้อไอน้ำทดแทนการ Blow-down และเพื่อการอุปโภค และบริโภคภายในโรงไฟฟ้า
น้ำดิบทั้งหมดจะถูกนำมาจากแม่น้ำปัตตานี ขณะที่โรงไฟฟ้าจะมีน้ำทิ้งวันละ 300 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมาจากน้ำหล่อเย็น หม้อไอน้ำ เครื่องกรองน้ำ จากการล้างเรซิน และน้ำทิ้งจากการใช้ภายในอาคาร ซึ่งจะถูกส่งมาปรับปรุงคุณภาพที่ระบบบำบัดน้ำทิ้งให้ได้คุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนจะนำไปเก็บรวบรวมที่บ่อน้ำทิ้ง โดยการตรวจวัดคุณภาพผ่านเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง ก่อนปล่อยกลับไปยังแม่น้ำปัตตานี โดยมีการปล่อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ระบบดักฝุ่นและระบบควบคุมคุณภาพอากาศ ประกอบด้วยระบบดักจับฝุ่น 2 ระบบ ทำงานควบคู่กัน ได้แก่ ระบบลมหมุนวน (Multi-Cyclone) และ ระบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการดักฝุ่นโดยรวมมากกว่า 99%
นอกจากนี้ ขี้เถ้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า จะถูกกักเก็บและลำเลียงใส่รถตัก และพรมน้ำโดยไม่ให้ฟุ้งกระจาย เพื่อนำไปเก็บในบ่อเก็บเถ้า และนำใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งโรงไฟฟ้าได้ติดตั้งอุปกรณ์ และกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมค่ามวลสารให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
แม้ว่าโรงไฟฟ้าจะถูกออกแบบระบบให้ประสิทธิภาพสูงระดับใดก็ตาม ความสำเร็จในการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดวัตถุดิบที่จะป้อนเป็นเชื้อเพลิงเข้าสู่โรงไฟฟ้า และเชื้อเพลิงชีวมวล จะต้องมีความพร้อมเพียงพอในการนำมาใช้ในกระบวนการผลิต ทางโรงไฟฟ้าจึงให้ความสำคัญ และมีการเตรียมแผนงานที่ยั่งยืน เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรงไฟฟ้าได้ดำเนินการจัดซื้อจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวล ในแต่ละปีกว่า 250,000 ตัน เช่น ในปี 2564 ปริมาณจัดซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลรวมทุกประเภท รวมทั้งสิ้น 257,402 ตัน เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเฉลี่ยวันละ 800 ตัน ตามการสั่งการของ กฟผ. ให้จ่ายไฟฟ้า 100% ตลอดเวลา
วัตถุดิบที่นำมาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล
กลุ่มวัตถุดิบหลักที่จัดซื้อ ประกอบด้วย กลุ่มคู่ค้าไม้ประมาณ 140 ราย ที่หมุนเวียนซื้อขายกัน และผู้ขายรายย่อยประมาณ 120 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในรัศมีประมาณ 100 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นการจัดหาจากชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ใน 2 ประเภท คือ
1. เชื้อเพลิงที่ได้จากการตัดโค่นตามอายุของต้นไม้ยางพารา จากคนในชุมชนได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายกำหนด เช่น ไม้ฟืนยางพารา ปีกไม้ รากไม้ ขี้เลื่อย ขี้กบ
2. กำลังศึกษาและทดลองใช้งานเชื้อเพลิงชีวมวล ที่ได้จากกระบวนการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น เศษไม้ ใยปาล์ม ไม้ไผ่ ซึ่งภาครัฐสนับสนุนให้ชุมชนปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ
ประโยชน์ของ โรงไฟฟ้า กัลฟ์ ยะลา กรีน นอกจากกลุ่มผู้ประกอบการผลิตกระแสไฟฟ้า จะได้ผลประโยชน์จากการลงทุนแล้ว ทาง บริษัทฯ ยังสามารถนำโครงการดังกล่าวไปประชาสัมพันธ์ เสริมสร้างภาพลักษณ์ ในด้านการใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ผ่านการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล เช่น การเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าของนักเรียน นักศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ ยังช่วยกระจายรายได้ในการพัฒนาพื้นที่ชุมชน ท้องถิ่น ผ่านการเสียภาษีต่าง ๆ ช่วยพัฒนาชุมชนผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
ขณะที่จังหวัดยะลาสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากรายได้จากการขายไฟฟ้าได้ประมาณ 31.5 ล้านบาทต่อปี
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าเป็น นิติบุคคลที่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับจังหวัดยะลา และยังช่วยเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าในเขตจังหวัดยะลา และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เกิดการจ้างแรงงานในโรงไฟฟ้า และในธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ ได้แก่ แรงงานขนส่งเศษไม้ยางพารา ร้านค้า และสถานประกอบการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ซึ่งเป็นผลดีต่อภาพรวมของการจ้างงานในจังหวัดยะลา โดยเป็นการจ้างแรงงานในท้องถิ่นประมาณ 80% ของแรงงานทั้งหมด
โรงไฟฟ้า กัลฟ์ ยะลา กรีน ผลิตกระแสไฟฟ้าเทียบเท่าการนำเข้าพลังงานเชิงพาณิชย์เพื่อผลิตไฟฟ้า หรือ เทียบเท่ากับการลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันเตา เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้จำนวน 37.82 ลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่า 567.36 ล้านบาท และยังเป็นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมนโยบายของประเทศ ที่ให้มีการนำศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนภายในท้องถิ่น มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน เป็นการใช้ทรัพยากรภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ การกระจายโอกาสไปยังพื้นที่ห่างไกลให้มีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า และช่วยแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตไฟฟ้า
หัวใจสำคัญ ที่ทำให้โรงไฟฟ้ายะลา กรีน ประสบความสำเร็จตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่เดินเครื่องผลิตโรงไฟฟ้า คือ การมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดยะลา 1 ซึ่งชื่อเดิม คือ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า บริษัท กัลฟ์ ยะลา กรีน จำกัด เป็นกองทุนขนาดกลาง โดยมี คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) เป็นผู้บริหารกองทุน
นับตั้งแต่ปี 2555 หลังจากที่ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ตั้งแต่ปี 2555-2563 มีโครงการรอบโรงไฟฟ้า ที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 106 โครงการ รวมเป็นเงินงบประมาณ 12.52 ล้านบาท
งบประมาณจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ที่ถูกจัดสรรผ่าน คพรฟ. ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ จะมีการหารือร่วมกับสมาชิกชุมชน ผู้แทนชุมชน และองค์กรพัฒนาท้องถิ่นเพื่อรับฟังความคิดเห็น และร่วมพัฒนากับชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นผลให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า และงบประมาณที่สามารถนำมาใช้ในพื้นที่
ที่ผ่านมา สถานศึกษา หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน ตลอดจนผู้นำชุมชน และบุคคลที่สนใจทั่วไป เข้าศึกษาการดำเนินงานของโรงไฟฟ้ามาโดยตลอด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของ โรงไฟฟ้า กัลฟ์ ยะลา กรีน ในการอยู่ร่วมกับชุมชน และเป็นไปตามแนวนโยบายการส่งเสริมจากรัฐบาล
อ่านข่าวเพิ่มเติม:
- โรงไฟฟ้าทุ่งสังกรีน โมเดลชีวมวลผสม จ.นครศรีธรรมราช
- โรงไฟฟ้าสิรินธร ต้นแบบชีวมวลนำความร่วมมือชุมชนกับผู้ประกอบการ
- โมเดลกำแพงเพชร บริษัท สหกรีน ฟอเรสท์ จำกัด