ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ยะลา นราธิวาส และ ปัตตานี ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น จนมีสัดส่วนผู้ป่วยรายใหม่ราว 20% ของผู้ป่วยทั้งประเทศ
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
ความตระหนกของรัฐบาลชัดเจนมากขึ้นเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้ตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ กับสั่งให้เร่งกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 และชุดตรวจเร็ว ATK เวชภัณฑ์และยา ลงไปในพื้นที่โดยเร็ว
การเกิดขึ้นของ “ศบค.ส่วนหน้า” ในชายแดนภาคใต้ ทำให้รัฐบาลถูกจับตามองว่ากำลังใช้ความมั่นคงนำสาธารณสุข และโครงสร้างการทำงานซ้ำซ้อนกับ ศบค.ส่วนกลาง อย่างไรก็ดี พล.อ. สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) ปฏิเสธว่าไม่เป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับ ศบค. เนื่องจากเป็นการดูแลพื้นที่เฉพาะที่มีความซับซ้อนที่ต้องแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ชี้แจงเมื่อวันที่ 20 ต.ค. ว่า ศบค.ส่วนหน้าจะมีหน้าที่บูรณาการการทำงานเพื่อการสกัดกั้นการระบาดของโควิด-19 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะไม่เข้าไปก้าวก่ายการทำหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ และยืนยันว่าไม่ใช่การ “ยึดอำนาจ” หรือก้าวก่ายการทำหน้าที่ของใคร
ประกาศคำสั่งตั้ง ศบค. ส่วนหน้า ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 ต.ค. เพียงไม่กี่วันหลังจากที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ โดยประกาศจะให้ประชากรในพื้นที่ได้รับวัคซีนถึง 70% ภายในเดือน ต.ค.
ทว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ บอกบีบีซีไทยว่าก่อนที่รัฐบาลจะตระหนักถึงขอบข่ายปัญหาการระบาดในพื้นที่นั้น ขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขได้เดินทางไปถึงจุดที่เรียกว่าล่มสลายแล้ว
“มันล่มแล้ว ถึงได้เห็นการทะลุขึ้นมาแบบนี้ หมอไม่ยอมรักษาแล้ว ไม่อยากทำเอทีเค ทำกันไม่ไหวแล้ว ตอนนี้อยู่ที่ว่าจะพินาศเมื่อไหร่ จะถล่มเมื่อไหร่เท่านั้นเอง” เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวระบุ
แหล่งข่าวผู้นี้อธิบายว่าขณะนี้การระบาดในพื้นที่ชายแดนใต้ยังไม่ถึงจุดสูงสุด สิ่งนี้ตรงกับที่ นพ. เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเมื่อวันที่ 18 ต.ค. โดยระบุด้วยว่าเชื้อไวรัสที่ระบาดอยู่มีทั้งสายพันธุ์อัลฟา เบตา และเดลตา จึงได้นำส่งวัคซีนชนิด mRNA ลงไปในพืนที่
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวบอกบีบีซีไทยเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ในขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ โดยการติดเชื้อยังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ก่อนจะไปทรงตรงในอีกราว 4 สัปดาห์ข้างหน้า หากมาตรการที่ดำเนินการซึ่งได้แก่ การเพิ่มการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ การจัดตรวจเอทีเคมากขึ้น ควบคุมการเคลื่อนย้ายประชากรระหว่างจังหวัดอย่างเข้มข้น ดำเนินไปอย่างได้ผล
“แต่เมื่อไหร่ที่เราไม่สามารถแก้ปัญหา ไม่สามารถนำคนไข้เข้าสู่ระบบได้ ก็จะพังพินาศ ได้เห็นผู้ติดเชื้อเพิ่มได้ถึงวันละหนึ่งพัน ถึงสองพันรายในเดือน พ.ย.” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวให้ข้อมูลอีกว่า รูปแบบการระบาดที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ ดำเนินไปในลักษณะเดียวกับที่เกิดในกรุงเทพฯ โดยนับตั้งแต่มีการคลายล็อกดาวน์เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่ซึ่งอยู่ในสภาพอัดอั้นก็ออกมาใช้ชีวิตอย่างผ่อนคลายเต็มที่ ในเวลาเดียวกันในเดือน ส.ค. เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาซึ่งแพร่กระจายได้รวดเร็ว ได้ระบาดเข้ามารอในพื้นที่อยู่แล้ว
“เดือน ส.ค.เป็นเดือนค้าขายผลไม้ มีรถจากจันทบุรี กรุงเทพฯ และจากที่อื่น ๆ เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งไม่มีการควบคุมเคร่งครัด จึงทำให้เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาเข้ามาในพื้นที่ และรอวันปะทุ จากที่เคยมีแต่สายพันธุ์อัลฟา พอ ส.ค. เริ่มเห็นเดลตาสัก 20% พอปลาย ก.ย. ถึงต้น ต.ค. ขึ้นมาเป็น 25% เราคาดว่าจากนี้สายพันธุ์เดลตาน่าจะถึง 50% หรือ 70% ก่อนจะทรงตัว”
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้นี้กล่าวอีกว่า นอกจากการระบาดจะเกิดในหมู่ประชากรในวัยทำงานแล้ว วัยรุ่น และนักเรียน ที่มักออกไปพบปะสังสรรค์กันนอกบ้าน ก็พบว่ามีการติดเชื้อมากขึ้นนับตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. และกลุ่มคนเหล่านี้คือผู้นำโรคกลับไปแพร่ต่อในครัวเรือน ซึ่งอาศัยกันเป็นครอบครัวใหญ่ จึงมีการติดเชื้อทั้งครอบครัว ขณะที่คนในวัยทำงานที่อยู่ในเมืองก็ยังพบปะกันตามร้านน้ำชา จึงทำให้เห็นยอดผู้ติดเชื้อในแต่ละพื้นที่เพิ่มขึ้นถึงหลักร้อย แต่สภาพการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชนบทห่างไกล
- สรุปมติ ศบค. ยังไม่เพิ่มประเทศเสี่ยงต่ำ-เคาะลดเวลาเคอร์ฟิวพื้นที่ล็อกดาวน์
- นายกฯ ระบุ 1 พ.ย. ไทยเปิดรับผู้มาเยือน 10 ชาติ วัคซีนครบ ไม่กักตัว
- ยอดผู้ป่วย 4 ชายแดนใต้เพิ่มเป็น 20% ของทั้งประเทศ ระดมฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม พื้นที่แรก
โรงพยาบาลรับไม่ไหว ไม่ตรวจหาเชื้อ
นอกเหนือจากการแพร่เชื้อที่เป็นไปอย่างรวดเร็วแล้ว ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในการรักษาพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 1 ปี ยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ชายแดนใต้เพิ่มมากขึ้น
แหล่งข่าวกล่าวว่าก่อนหน้าที่รัฐบาลจะประกาศสนับสนุนความช่วยเหลือระลอกล่าสุด ทั้งโรงพยาบาล สนามและศูนย์ดูแลผู้ป่วยในชุมชนไม่สามารถรับผู้ป่วยได้แล้ว และสถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้แพทย์และพยาบาลไม่ลงพื้นที่เพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อ เพราะทราบดีว่าหากพบผู้ป่วยเพิ่ม ก็ไม่มีขีดความสามารถในการดูแล
“เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยกล้าตรวจเอทีเค เพราะตรวจแล้วก็ไม่รู้จะเอาคนไข้ไปไหน เตียงที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม เต็มหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเดือน ก.ย. ทั้งเดือนจึงเป็นเดือนที่ทุกอย่างหยุดนิ่ง แต่เชื้อแพร่กระจายมากขึ้น”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือการบริหารจัดการที่ปัจจุบันแพทย์เป็นผู้รับภาระทั้งการดูแลคนไข้ และการจัดการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ขณะที่หน่วยงานในท้องถิ่นอาทิ หน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำหน้าที่สร้างอาคารและจัดเตรียม รพ.สนาม แต่หลังจากนั้นภารกิจทุกอย่างตกกับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องดูแลผู้ป่วยไปในคราวเดียวกัน
“เราไม่มีช่องที่จะพูด หรืออธิบายเรื่องนี้ แม้แต่ตอนที่ รมว.สาธารณสุขลงมาในพื้นที่ เราก็ไม่ได้มีโอกาสนำเสนอปัญหาให้เห็นว่างานด้านโลจิสติกส์นั้นควรให้งบประมาณแก่หน่วยงานท้องถิ่นรับไปเพื่อช่วยจัดการ เพราะบุคลากรทางการแพทย์นั้นล้าแล้ว รับโหลดงานมานานเป็นปี เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครอยากจะไปตรวจคนไข้ในชุมชน เพราะตรวจเจอแล้วงานเข้า ก็รับกันไม่ไหว และไม่เฉพาะคน สถานที่ให้บริการ รพ.สนาม ก็ทรุดโทรม การดูแลทำให้สะอาดเป็นเวลายาวนานแบบนี้ก็ยากลำบาก ก็จะมีปัญหาร้องเรียนเรื่องสภาพของรพ.สนามตามมา”
ขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่บางส่วนเริ่มมีแนวคิดจะจับมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อระดมอาสาสมัครมาช่วย เช่น จะให้อาสาสมัครเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจหาเชื้อโดยใช้ชุดตรวจเอทีเค ช่วยดูแลการกักตัวในชุมชน เป็นต้น เพื่อบรรเทาภาระของแพทย์และพยาบาล โดยเงินค่าจ้างอาสาสมัครก็จะมาจากการขอรับบริจาค
ยอดผู้ติดเชื้อ 4 จังหวัดรวมกัน แซงกรุงเทพฯ
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานเมื่อวันที่ 20 ต.ค. ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,919 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 อยู่ที่ 1,811,852 ราย และยอดผู้หายป่วยสะสมอยู่ที่ 1,669,859 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 79 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 18,392 ราย
ในรอบ 24 ชม. นี้ ปรากฏว่ายอดผู้ป่วยหน้าใหม่ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมกัน มีจำนวนแซงกรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นจุดแพร่ระบาดสูงสุดไปเป็นที่เรียบร้อย โดย กทม. มีผู้ป่วยยืนยัน 1,020 ราย ขณะที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ป่วยยืนยัน 1,992 ราย แยกเป็น ยะลา 704 ราย ปัตตานี 520 ราย สงขลา 484 ราย และ นราธิวาส 284 ราย
นพ. เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวเมื่อ 18 ต.ค. ว่า “ชายแดนใต้ การติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ยังไม่ถึงจุดสูงสุด แต่ว่าในบางพื้นที่รายจังหวัดก็ชะลอตัวในการเพิ่มบ้างแล้ว”
สำหรับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 ในพื้นที่ภาคใต้มี 3 สายพันธุ์ ทั้งอัลฟา (อังกฤษ) เบตา (แอฟริกา) และเดลตา (อินเดีย) ซึ่งสายพันธุ์เดลตามีอยู่ราว 24-25% ดังนั้นการจัดสรรวัคซีนลงไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์สูง จึงจัดสรรวัคซีนชนิด mRNA ยี่ห้อไฟเซอร์ลงไป พร้อมยืนยันว่าไม่กระทบกับวัคซีนสำหรับการฉีดให้กับกลุ่มนักเรียน
ความครอบคลุมการฉีดวัคซีนใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ (28 ก.พ.-17 ต.ค. 2564)
- นราธิวาส เข็มที่หนึ่ง 39.4% เข็มที่สอง 24.2%
- ปัตตานี เข็มที่หนึ่ง 42% เข็มที่สอง 23.1%
- ยะลา เข็มที่หนึ่ง 51.6% เข็มที่สอง 32.2%
- สงขลา เข็มที่หนึ่ง 49.8% เข็มที่สอง 33.9%
ความครอบคลุมการฉีดวัคซีนใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป (28 ก.พ.-17 ต.ค. 2564)
- นราธิวาส เข็มที่หนึ่ง 51.1% เข็มที่สอง 32%
- ปัตตานี เข็มที่หนึ่ง 49.3% เข็มที่สอง 29%
- ยะลา เข็มที่หนึ่ง 57.5% เข็มที่สอง 41.2%
- สงขลา เข็มที่หนึ่ง 66.6% เข็มที่สอง 48.6%
ศบค. ส่วนหน้า-สาธารณสุขจังหวัดทำอะไรบ้าง
บีบีซีไทยพยายามติดต่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขที่กำกับดูแลเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งครอบคลุมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสอบถามถึงสถานการณ์ระบบการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ แต่ทั้งหมดติดภารกิจ ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เช่น นพ.วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา มีประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาและคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด โดยผู้ว่าฯ จะมีการแถลงสถานการณ์ในช่วงเย็น
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสาธารณสุขจังหวัด สามารถรวบรวมแนวทางการดำเนินการรองรับสถานการณ์ได้ดังนี้
- แจกชุดตรวจเอทีเค ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในตลาด ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย แผงลอยจำหน่ายอาหาร
- ตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. เป็นต้นไปเปิดให้ประชาชนชาวปัตตานีที่รับวัคซีนซิโนแวครบ 2 เข็มก่อนเดือน ส.ค. ลงทะเบียนรับวัคซีนของไฟเซอร์เป็นวัคซีนกระตุ้น (เข็ม 3)
- นพ.อนุรักษ์ สารภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ประชุมหารือกับผู้ประกอบการคลินิคเอกชน ร้านขายยา และหนว่ยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเรื่องการบริหารจัดการกระบวนการรักษาหลังจากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจเอทีเค
- รพ.บันนังสตาเปิดให้ประชาชนอายุตั้งแต่ 12 ขึ้นไปที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนมารับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1
- ตรวจหาเชื้อเชิงรุกในพื้นที่ชุมชน ตลาดสด
- วันที่ 20-31 ต.ค. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มกระตุ้นให้ประชาชนที่รับวัคซีนซิโนแวครบ 2 เข็ม
- นพ. ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยแนวทางการควบคุมการระบาดของโควิดว่า เน้นที่การควบคุมโรคในคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ เร่งฉีดวัคซีนในหมู่บ้านและกลุ่มเสี่ยง ล็อกดาวน์เป็นพื้นที่ เพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง โดยประเมินว่าหากมีผู้ป่วยแต่ละวันไม่เกิน 500 คน จะอยู่ในศักยภาพที่โรงพยาบาลหลักสามารถรองรับได้
- เพิ่มเตียงรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล รวมทั้งจัดตั้งสถานกักกันโรคท้องที่สำหรับกักกันผู้ที่เดินทางข้ามจังหวัด (local quarantine) และจัดตั้งศูนย์โควิดชุมชนเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ (community isolation) รวมทั้งการใช้โรงแรมเป็นสถานที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด
- แจกชุดตรวจเอทีเคให้ประชาชน พร้อมให้คำแนะนำว่าหากผลตรวจเป็นบวกให้ติตด่อสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
ด้าน นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. กล่าวในการแกลงข่าวประจำวันนี้ (21 ต.ค.) ว่า สถานการณ์การระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังคงต้องจับตา รัฐบาลได้แต่งตั้ง ศบค. ส่วนหน้า ซึ่งเป็นการกระชับและบูรณาการภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนและประชาสังคม รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขที่มีนโยบายส่งวัคซีนลงไปฉีดเพิ่มเติมที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัด เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดให้ได้รวดเร็วที่สุดไม่ให้เกิดการลุกลามไปมากกว่านี้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสธ. ได้ส่งวัคซีนไแล้วล็อตแรกไปแล้วประมาณ 5 แสนโดส ส่วนสัปดาห์นี้จะส่งลงไปสมทบอีก 5 แสนโดส รวมเป็น 1 ล้านโดส
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. พล.อ.ณัฐพล ผู้อำนวยการ ศบค.ส่วนหน้าลงพื้นที่จังหวัดยะลา และได้พบปะพูดคุยกับคณะกรรมการอิสลามกลางประจำ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าด้วยแนวทางการเร่งฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ 70%
ศูนย์ข่าวภาคใต้ ไทยพีบีเอสรายงานว่าในการลงพื้นที่ครั้งนี้ พล.อ.ณัฐพลได้ชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าแนวทางการทำงานของ ศบค.ส่วนหน้าจะเน้นที่การทำงานร่วมกันระหว่างกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งจะคอยสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานสาธารณสุข กำลังพลด้านการแพทย์ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ เครื่องมือ ยานพาหนะ การตั้ง รพ.สนาม ควบคุมป้องกันการเข้าเมืองผิดกฎหมายบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย
……
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว