พลันที่การประชุมศูนย์การบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ครั้งที่ 9/2564 ที่มี “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธาน
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการยกระดับป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 10 จังหวัด (สีแดงเข้ม) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา, ปัตตานี, นราธิวาส และยะลา
นอกจากนั้น ศบค.ยังเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม-30 กันยายน 2564 โดยมุ่งเน้นจำกัดการเคลื่อนย้าย และการรวมกลุ่มของบุคคลขั้นสูงสุด รวมทั้งกำหนดเวลาการออกนอกเคหสถาน ควบคู่ไปกับการเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันโรค การฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล รวมทั้งการเยียวยาภายใต้ 5 กฎเหล็ก ดังที่ได้ปรากฏตามข่าว
เพียงแต่ 1 ใน 5 กฎเหล็กดังกล่าวมีมาตรการบางอย่างเกี่ยวข้องกับการทำงานจากบ้าน (work from home-WFH) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลเช่นนี้จึงทำให้หลายบริษัทส่วนใหญ่ที่เคยใช้แผนฉุกเฉินในการบริหารธุรกิจ และองค์กร เมื่อเกิดการระบาดในคลัสเตอร์แรก ๆ จนถึงปัจจุบันจึงต่างต้องปรับแผนรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ
เซ็นทรัล WFH 100%
“ฤดี เอื้อจงประสิทธิ์” Head of People Branding & Communication กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อยู่ในภาวะวิกฤต รวมทั้งเพื่อเป็นการปฏิบัติตามมาตรการของทางภาครัฐ กลุ่มเซ็นทรัลจึงมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากบ้าน (work from home-WFH) หรือปฏิบัติงานจากที่บ้าน 100% ยกเว้นส่วนงาน frontline
โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหาร, ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงพนักงานจัดส่งสินค้า และทีมงานที่มีหน้าที่สำคัญที่จำเป็นต้องเข้าสำนักงาน จะจัดให้มีทีมสำรองในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีมาตรการดูแลความสะอาดปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ทั้งส่วนของพนักงาน และสำหรับลูกค้า
“อย่างไรก็ตาม กลุ่มเซ็นทรัลมีการเตรียมความพร้อมในการ WFH อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการส่งเสริมให้พนักงานปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการสนับสนุนเครื่องมือ และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดผลลัพธ์ดีที่สุด รวมทั้งเน้นย้ำให้หัวหน้างานทุกคนติดตามดูแลเอาใจใส่ทีมงานของตนเองอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานของเราสามารถปรับรูปแบบการทำงานให้มีความคล่องตัว มีความผูกพันกับองค์กร และยังมุ่งมั่นส่งมอบสิ่งดีที่สุดให้กับเพื่อนร่วมงาน องค์กร และลูกค้าต่อไป”
ซันโทรี-เป๊ปซี่โค เร่งฉีดวัคซีน
ขณะที่ “เพียงจิต ศรีประสาธน์” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล Chief Human Resources Office บริษัท ซันโทรี เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากการประกาศล็อกดาวน์ของรัฐบาล และการขอความร่วมมือให้บริษัท รัฐ และเอกชน โดยให้พนักงานทำงานจากบ้าน (work from home-WFH) ให้ได้มากที่สุด
ซึ่งสำหรับซันโทรี เป๊ปซี่โค มีนโยบายให้พนักงานในส่วนของออฟฟิศทำงานจากบ้าน 100% มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ตอนที่มีการระบาดระลอกใหม่จนทำให้พนักงานของเราทำงานจากบ้านมาเป็นระยะเวลา 3 เดือนกว่าแล้ว และคาดว่าจะยังคงนโยบายทำงานไปจนถึงเดือนกันยายน หรือตามสถานการณ์ และประกาศของภาครัฐ
“ส่วนพนักงานที่อยู่โรงงาน และต่างจังหวัดให้แบ่งทีมสลับกันเข้ามา โดยยึดมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดเหมือนกับปี 2563 ที่เราเริ่มนำนโยบายทำงานจากบ้านมาใช้เป็นครั้งแรก จึงทำให้ปีนี้ไม่ได้มีการปรับตัวมากเท่าไหร่นัก ทั้งยังมีการเทรนนิ่งด้วยการทำงานผ่านระบบ Bluejean มาปรับใช้”
“เพียงแต่จะต้องเข้มข้นในเรื่องการประสานงานผ่านช่องทางออนไลน์ และหาแอ็กทิวิตี้ หรือกิจกรรมให้พนักงานทำงานร่วมกันมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความเครียด ที่สำคัญ เรามีกฎว่าขอให้งดการเดินทาง ยกเว้นกรณีจำเป็น และไม่อนุญาตให้เข้ามาออฟฟิศ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นเช่นกัน ซึ่งปีก่อนเรามีการจัดแบ่งทีม A ทีม B สลับเข้ามาทำงาน แต่ปีนี้เป็นทำงานจากบ้าน 100%”
“ที่สำคัญ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลทำงานอย่างหนัก ต้องติดตามสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลทุกวัน ระหว่างนี้จะมีการประชาสัมพันธ์ให้พนักงานไปฉีดวัคซีนให้มากที่สุด ซึ่งพนักงานเรามีมากกว่า 4,000 คน ทั้งพนักงานประจำ และพนักงานสัญญาจ้างอื่น ๆ เบื้องต้นตอนนี้ทยอยเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว ตามสิทธิประกันสังคม ประมาณเกือบ 50% ส่วนที่เหลือคือพนักงานในส่วนโรงงานที่อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งต้องรอตามขั้นตอนการจัดสรรวัคซีนของรัฐ”
ชไนเดอร์ฯใช้ดิจิทัลขับเคลื่อน
ในมุมมอง “วุฒยา วงษ์สวรรค์” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ดูแลกลุ่มประเทศไทย, เมียนมา และสปป.ลาว กล่าวเสริมว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรงในภูมิภาค จึงมองว่าความคล่องตัว และความยืดหยุ่นนับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ เราจึงมีความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในด้านการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล และมีการนำมาปรับใช้ก่อนที่จะเกิดวิกฤตดังกล่าว
“ทั้งนั้นเพราะชไนเดอร์ อิเล็คทริค ยืนหยัดในค่านิยมหลักขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับพนักงานและลูกค้าอย่างสูงสุด จึงเลือกใช้เครื่องมือทางดิจิทัล ทั้งในการประสานงานกับลูกค้า พันธมิตรคู่ค้า และสำหรับสื่อสารกับพนักงานของเราเอง เพื่อสร้างความคล่องตัว และความยืดหยุ่นในการทำงาน และเพื่อให้ทั้งองค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายไปด้วยกันในช่วงเวลานี้”
“โดยทั้งผู้บริหาร และพนักงานของชไนเดอร์ อิเล็คทริคปรับวิถีชีวิต และวิธีการทำงานด้วยการประยุกต์ใช้เครื่องมือทางดิจิทัลให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตของโรคระบาด และวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบต่อเนื่อง เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อพนักงาน ลูกค้า และพันธมิตรของบริษัทให้น้อยที่สุด”
“สำหรับมาตรการ WFH และ employees segregation เป็นมาตรการหลักในการบริหารจัดการวิกฤตของบริษัท เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพนักงานจะมีความปลอดภัยในการทำงาน และสามารถให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่องในช่วงวิกฤต”
“โดยบริษัทแบ่งพนักงานในแต่ละแผนกออกเป็น 2 กลุ่ม ทั้งยังแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด โดยสลับกันทำงานเป็น home base และ office base ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มยังคงมีความสามารถในการบริหารจัดการ และให้บริการลูกค้าได้เท่า ๆ กัน ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พนักงานอีกกลุ่มจะสามารถดำเนินธุรกิจ และให้บริการลูกค้าได้ตามปกติ”
“อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดอยู่ในระดับสูง บริษัทจะกำหนดให้พนักงานทำงานที่บ้าน 100% เพราะความปลอดภัยของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของบริษัท”
นอกจากนี้ ทางบริษัทยังทำการจัดหาวัคซีนทางเลือกให้กับพนักงานอีกด้วย นอกจากความปลอดภัยทางด้านร่างกาย และสุขภาพแล้ว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ยังให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต หรือ mental health ของพนักงาน ด้วยการจัดหาบริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตอีกด้วย เรียกได้ว่า กายพร้อม ใจพร้อม สู้วิกฤตไปด้วยกัน”
ซึ่งไม่ธรรมดาเลย