วิพากษ์ศบค.ส่วนหน้าแก้โควิดใต้
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีคำสั่งจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือศบค.ส่วนหน้า ประกอบด้วย นราธิวาสปัตตานี ยะลา และสงขลา โดยมี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ เพื่อบูรณาการส่วนราชการทั้งหมด เพื่อยุติการแพร่ระบาดและสร้างมาตรการป้องกันให้แข็งแรง ไม่ให้เกิดการระบาดในครั้งต่อไป
ทำให้มีเสียงวิจารณ์ถึงการให้ทหารนำกระทรวงสาธารณสุข
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
สถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์
เห็นด้วยกับข้อวิจารณ์เกี่ยวกับการตั้ง ศบค.ส่วนหน้า ในการแก้ปัญหาโควิด โดยให้ทหารนำสาธารณสุข เพราะลักษณะของการแก้ปัญหาควรอาศัยงานในสายพลเรือน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขเป็นตัวหลัก ไม่ใช่ฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดปัญหาได้
ในการเข้าถึงข้อมูลและมาตรการต่างๆ สาธารณสุขมีทั้งสาธารณสุขจังหวัด อสม. ซึ่งจะเข้าถึงชุมชนและทำงานได้ดีกว่า เชื่อมประสานกับประชาชนในพื้นที่ได้ดีกว่า พื้นที่ผสมผสานทั้งในเชิงวัฒนธรรมและศาสนาที่หลากหลาย ซึ่งแพทย์ อสม.สามารถเชื่อมสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ
การให้ทหารเข้ามา ถือเป็นปัญหามากเพราะทหาร จะทำเรื่องความมั่นคง และในทางปฏิบัติพลเรือนทำหน้าที่เป็นหลักอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด ฝ่ายปกครองสาธารณสุข กลไกการทำงานจริงเรื่องมาตรการแก้โควิดควรอาศัยกลไกเหล่านี้แก้ปัญหา แล้วให้ทหารเข้ามาเสริมเท่านั้น เพราะทหารอาจมาจากกทม. หรือพื้นที่อื่นจะยิ่งออกห่างและเป็นจุดอ่อน ฝ่ายสาธารณสุขรู้งาน รู้กลไกในการแก้ปัญหา ทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงประชาชนมากที่สุด เข้าไปสู่หมู่บ้าน เข้าถึงให้ลึกที่สุด
คนที่อยากฉีดวัคซีนมีมาก แต่วัคซีนไม่ถึง ไม่พอ แต่มีการใช้เรื่องวัฒนธรรม ศาสนา มาเป็นข้ออ้างจากคนส่วนน้อย ขณะที่คนส่วนใหญ่อยากฉีดวัคซีนแต่วัคซีนไม่พอ
ดังนั้นควรให้หน่วยงานสาธารณสุขหรือพลเรือนที่มีอยู่ลงไปในพื้นที่ อย่างที่ จ.ปัตตานี มีหน่วยหลักจัดที่โรงพยาบาล หอประชุม อบจ.ปัตตานี ม.อ.ปัตตานี และมีหน่วยงานลงไประดับหมู่บ้านด้วย ซึ่งข้อมูลด้านสาธารณสุขที่มีอยู่ หมอ หรือพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถเข้าถึงได้ ไม่มีปัญหา
แต่ดีที่สุดไม่ควรมีกรรมการพิเศษแล้ว เพราะที่มีอยู่ก็ดีอยู่แล้วแต่เสริมให้เข้มแข็งขึ้น ที่ตั้งมาส่วนหน้ามีมากเกินไป ไม่ว่าอะไรก็ส่วนหน้า ดังนั้น เอาที่มีอยู่แล้วทำงาน และต้องฉีดวัคซีนให้พอ เพราะจะรณรงค์อย่างไร มีมาตรการเชิงรุกอย่างไรก็ยากและวัคซีนไม่พอ
ที่ผ่านมามีบางหน่วย เช่น สาธารณสุขยะลาบุกไปถึงหมู่บ้านที่บันนังสตา และเขื่อนบางลาง ชาวบ้านอยากฉีดวัคซีนแต่วัคซีนไม่พอ ถ้าแก้ให้วัคซีนไปให้ถึง มีเพียงพอ จะขยายจำนวนการฉีดวัคซีนออกไปมาก และมีการระวังตัวมากขึ้น
ที่เกิดปัญหาโควิดยังระบาดหนัก อีกปัจจัยหนึ่งเพราะประชาชนส่วนหนึ่งคิดว่าฉีดวัคซีนแล้วจะปลอดภัย จึงไม่ระวังตัว และคนที่นี่เข้ากลุ่มตามประเพณีเข้มแข็ง เราก็ต้องมีมาตรการที่เข้มแข็ง มีแคมเปญเชิงบวกให้มากขึ้น
ทั้งสองอย่างนี้น่าจะลดผู้ติดเชื้อและป้องกันการสูญเสีย ถ้าติดก็ไม่ตายและลดให้มากที่สุด หากทำได้ก็ไม่ต้องมีศูนย์นี้
ที่บอกภาคใต้ไม่เหมือนภาคอื่น ถึงต้องมี ศบค.ส่วนหน้า เป็นข้ออ้าง เพราะไม่เข้าใจพื้นที่
ส่วนการจะเปิดประเทศในจังหวัดชายแดนภาคใต้คงไม่ทัน ถ้าจะเปิดก็เปิดบางจุดพอได้ เช่น หาดใหญ่แซนด์บ็อกซ์ หรือเปิดด้านนอก ที่นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเข้ามา ทำแบบภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพราะมาเลเซียไม่มีปัญหา เขาฉีดวัคซีน 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว ถ้าเราจัดการได้ เฉพาะด้านนอกก็อาจพอเปิดได้
อนุสรณ์ ธรรมใจ
อดีตกรรมการสภาวิจัย สาขาเศรษฐศาสตร์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ
เรื่องโรคระบาดและการแก้ปัญหาโรคระบาดเป็นเรื่องบุคลากรทางการแพทย์และเป็นงานโดยตรงของสาธารณสุข ควรให้แพทย์นำทหาร ไม่ใช่ทหารนำแพทย์ แต่ให้หน่วยทหารและผู้นำทางทหารเป็นหน่วยสนับสนุน
การเอาประเด็นความมั่นคงไปเกี่ยวพันกับการรักษาพยาบาลและการปฏิบัติการทางด้านสวัสดิการทางการแพทย์ จะทำให้การทำงานไม่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเท่าที่ควร
การที่มีเสียงวิจารณ์เรื่องการใช้ทหารนำสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่องนั้น สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาโควิดที่ผ่านๆ มาของรัฐบาลใช้บุคลากรผิดภารกิจและไม่ตรงกับความเชี่ยวชาญ
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาเรื่องความมั่นคง ฉะนั้น รัฐบาล ฝ่ายความมั่นคง หรือทหารอาจให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงให้ทหารมาเป็นส่วนนำ แต่เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาโรคระบาด การให้ทหารนำจึงไม่น่าจะเป็นการจัดองค์กรที่ถูกต้อง ซึ่งหากเกี่ยวข้องกับปัญหาการใช้งบประมาณ ในเมื่อเรื่องนี้เป็นภารกิจหลักของกระทรวงสาธารณสุข ทำไมจะต้องให้เจ้าหน้าที่ทางทหารมาดูแลงบประมาณตรงนี้
ยกตัวอย่างกรณีแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนที่ ศอ.บต.ของกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้นำ การแก้ปัญหาดีกว่ามาก เพราะสามารถเข้าถึงชาวบ้านได้มากกว่า แต่เมื่อเอาทหารมานำถือเป็นการมองในมุมที่ใช้การตรวจจับความสัมพันธ์กับชาวบ้านก็ยิ่งไม่ดี
หรืออย่างกรณีที่นัดฉีดวัคซีน แล้วไม่มีวัคซีนให้ฉีดอาจก่อให้เกิดปัญหาความไม่เชื่อใจ จนไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน การเอาทหารไปนำจึงยิ่งสร้างความไม่เชื่อใจ จึงต้องเอาแพทย์ไปนำ ไปเป็นคนพูด เพราะอาจจะช่วยฟื้นความมั่นใจขึ้นมาได้ รวมถึงควรให้ผู้นำทางศาสนามาช่วยสร้างความเชื่อมั่น เพราะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าถึงชาวบ้านมากยิ่งขึ้น
การตั้ง ศบค.ส่วนหน้า ยังก่อให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนในการทำงานในพื้นที่อีกด้วย เพราะในพื้นที่มีคนทำงานอยู่แล้ว ทั้งสาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยทหารในพื้นที่ ถือเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งประเทศไทยมีปัญหาเรื่องงบประมาณอยู่แล้ว ไม่ควรไปทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนมากเกินไป จึงควรยกเลิกศบค.ส่วนหน้า
รัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาลอาจมีความไว้วางใจอยากจะใช้ทหาร เพราะอาจจะสั่งง่าย เป็นทีมงานที่จะทำงานได้สะดวกมากกว่า แต่ไม่ควรคิดเช่นนั้น เมื่อเป็นผู้นำรัฐบาลการบริหารงบประมาณและบุคลากรควรดำเนินการโดยใช้กลไกราชการทั้งหมด คิดง่ายๆ ว่า ศบค. หากเอาทหารมาแถลงความน่าเชื่อถือจะแตกต่างจากการเอาแพทย์มาแถลงหรือไม่
ยืนยันว่าควรให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นผู้นำ ถึงอย่างไรประชาชนเชื่อมั่นแพทย์มากกว่าทหารอยู่แล้ว เพราะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีความขัดแย้งกันอยู่ ทหารเหมือนตัวแทนอำนาจรัฐที่ไปควบคุม บางคนที่ต่อต้านอยู่แล้วก็จะยิ่งเป็นการเผชิญหน้ากันเข้าไปใหญ่
แนวทางที่ถูกต้องที่รัฐบาลควรยึดนำไปปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาโควิดในภาคใต้ คือ การเร่งฉีดวัคซีนคุณภาพสูงให้คนในพื้นที่และปล่อยให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เปิดธุรกิจให้ดำเนินการได้ โดยให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุข
ชลิตา บัณฑุวงศ์
ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
ถ้ามององค์ประกอบของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น มีแต่ตัวแทนหน่วยงานราชการเกือบทั้งหมด มีส่วนเดียวที่ไม่ใช่คือสำนักจุฬาราชมนตรี ทำให้ดูเป็นการแก้ปัญหาในมิติของรัฐ หรือของราชการอย่างมาก ซึ่งจะไม่ช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาเท่าไร และดูเหมือนนายกฯ อยากจะไปควบคุมกำกับดูแลให้ใกล้ชิดขึ้นเพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูง และยังมีประเด็นที่ชาวบ้านบางส่วนยังไม่เชื่อมั่นเรื่องการฉีดวัคซีน
การแก้ไขปัญหาโควิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ ความเป็นจริงภาคประชาสังคมมี ส่วนร่วม หรือมีบทบาทสำคัญมาโดยตลอด ตั้งแต่ผู้คนยังไม่ให้ความสำคัญกับโควิดระลอกแรก แต่ได้ภาคประชาสังคมเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน จึงคิดว่าโครงสร้างกรรมการชุดดังกล่าวยิ่งทำให้เทอะทะ และยิ่งไม่เข้าใจวิธีคิดของคนในพื้นที่ ซึ่งอาจแตกต่างจากบริบทอื่นๆ
ความจริง ศบค.ควรดึงหลายๆ ส่วน เข้ามาให้ความเห็นหรือกำหนดแนวทางที่มากกว่านี้ แต่รัฐไปให้ความสำคัญกับหน่วยงานเรื่องความมั่นคงมาก จากข่าวที่ ผอ.ศบค.ส่วนหน้าลงพื้นที่ไปประชุม ก็เน้นพูดคุยกับทางแม่ทัพเป็นหลัก กลายเป็นเรื่องความมั่นคงไปเลย ชาวบ้านจะยิ่งรู้สึกว่ามีการมากดทับอีกครั้งหนึ่ง โดยเอาเรื่องโรคระบาดมาเป็นข้ออ้าง
ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาโควิดของภาคใต้ จะเห็นจากหลายคำสั่งของผู้ว่าฯ 3 จังหวัดแดนภาคใต้ ออกมาลักษณะแข็งกร้าวมากๆ หรือใช้มาตรการที่ดูเด็ดขาด เช่น ถ้าไม่ฉีดวัคซีนจะไม่ให้หน่วยงานรัฐให้บริการกับบุคคลนั้นทำให้ชาวบ้านยิ่งรู้สึกแย่ เป็นการจำกัดสิทธิของคนที่ยังไม่ได้ฉีด และเรื่องวัคซีนต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ จะใช้การบังคับไม่ได้
เมื่อเกิดปัญหาโควิด ยิ่งวิกฤตมากเท่าไร บทบาทของแม่ทัพยิ่งเด่นชัดมากขึ้น และยิ่งเป็นการขยายอำนาจของทหารให้เข้าสู่ชีวิตประจำวันของประชาชน ไม่น่าจะส่งผลดี
การระบาดระลอกแรก จะเห็นว่าแพทย์ที่เป็นมลายู มุสลิม ในพื้นที่พยายามทำความเข้าใจ เช่น ทำสารคดีภาษาถิ่น พูดคุยกับผู้คนในพื้นที่ คนเหล่านี้จะเข้าใจว่าชาวบ้านคิดอย่างไร และต้องค่อยๆ พูดคุยอย่างไร
รัฐต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่ให้ถึงระดับชุมชน ระดับหมู่บ้าน อย่างแท้จริง อาจต้องใช้เวลาสักนิด การใช้กลไกราชการใน 3 จังหวัดภาคใต้จะไม่เวิร์กเลย ชาวบ้านจะรู้สึกว่าถูกคำสั่ง ถ้ายิ่งต่าง เขายิ่งรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ ฉะนั้นต้องค่อยๆ ทำ ปรับกลไกไปทีละนิด
เช่น ในหมู่บ้านจะยากมากถ้าจะให้ตรวจ ATK ทั้งกลุ่ม ทั้งชุมชน รัฐจะไม่ได้รับความร่วมมือ แต่ต้องค่อยๆ พูด เช่น นำ ATK ไปฝากไว้ที่มัสยิดในวันศุกร์ ฝากไว้ให้ชุมชนดูแลกัน ถ้ามีอะไรก็ประสานมา ต้องใช้วิธีละมุนละม่อม ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ และใช้กลไกที่มีอยู่ในพื้นที่
ชายแดนใต้มีประชาสังคม มีเอ็นจีโอ มีนักกิจกรรมเยอะมาก มากกว่าที่อื่นหลายเท่าตัว กลุ่มเหล่านี้สามารถช่วยได้ เพราะเขาทำมาตลอดอยู่แล้วนับตั้งแต่ยังไม่มี ศบค.ส่วนหน้า
ดังนั้น ควรไปต่อยอด ไม่ใช่ใช้กลไกราชการ หรือเอาคนพื้นที่ไปคุยเฉพาะหัวๆ ผู้นำทางศาสนาใหญ่ๆ ซึ่งลงไปไม่ถึงข้างล่างระดับชาวบ้าน