น้ำท่วมจ.ปัตตานีน้ำยังคงน่าห่วง น้ำท่วมถนนเกือบทุกสายย่านเศรษฐกิจกลางตัวเมือง ขณะที่ จ.ยะลาเริ่มคลี่คลาย โรงเรียนพร้อมเปิดทำการเรียนการสอน
วันนี้ (10 ม.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถนนเกือบทุกในสายในย่านเศรษฐกิจใจกลางตัวเมืองปัตตานีถูกมวลน้ำจาก จ.ยะลา ไหลเข้าท่วมเมื่อคืนที่ผ่านมา ส่วนผู้ประกอบการร้านค้าในตัวเมืองปัตตานีต่างเร่งเคลื่อนย้ายสินค้าไปไว้ที่สูงและเร่งก่ออิฐบล็อกเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้าไปในร้าน เนื่องจากระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง
นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มขึ้นอีกจาก 4 จุดเป็น 10 จุด เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโดยเร็วที่สุด พร้อมได้แจ้งเตือนให้ประชาชนอพยพข้าวของขึ้นสู่ที่สูงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนประชาชนซึ่งอาศัยริมแม่น้ำปัตตานีขณะนี้ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก
ยะลาน้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย
ชาวบ้านและคณะครูโรงเรียนบ้านท่าสาป ต.ท่าสาป อ.เมืองยะลา ช่วยกันทำความสะอาดห้องเรียน และอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายเพื่อเตรียมกลับมาเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง หลังพื้นที่โรงเรียนถูกน้ำท่วมเมื่อสามวันก่อนหน้านี้ โดยขณะนี้แม้ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว แต่พบว่าภายในโรงเรียนยังถูกน้ำท่วมขังอยู่บางส่วนโดยเฉพาะห้องเรียนนักเรียนชั้นอนุบาล
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ยะลา ขณะนี้ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องหลังฝนหยุดตก พื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำปัตตานีใน ต.ท่าสาบ อ.เมือง ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง เส้นทางสัญจรยานพาหนะสามารถผ่านเข้าออกหมู่บ้านได้แล้ว แต่ยังคงมีน้ำไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชนบางส่วนอยู่ โดยประชาชนต่างเร่งทำทำความสะอาดบ้านเรือนที่อยู่อาศัย พร้อมกับนำสิ่งของที่ได้รับความเสียหายจากการถูกน้ำท่วมออกมาผึ่งแดด เพื่อเตรียมนำกลับมาใช้สอบอีกครั้ง โดยหากฝนไม่ตกมาเพิ่มคาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ยะลา จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์
กฟผ.ปรับลดการระบายน้ำ
นายประเสริฐ อินทับ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันนี้ (10 ม.ค.) ได้ทยอยปรับลดการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ระบายน้ำอยู่ที่ 531 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะปรับลดการระบายน้ำลงอีกเมื่อปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลดลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยใน จ.ยะลา และปัตตานี
และยอมรับว่า จำเป็นต้องระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำฉุกเฉินตั้งแต่สัปดาห์ก่อน หลังฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเกินความจุ สูงสุดที่ 1,505 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 103.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2564 ปัจจุบันลดลงเหลือ 99.23 เปอร์เซ็นต์ โดยการระบายน้ำทำเพียง 1 ใน 4 ของน้ำที่เข้าสู่อ่าง เพื่อรักษาปริมาณให้อยู่ภาวะสมดุล และรักษาความปลอดภัยของตัวเขื่อน พร้อมกับร่วมกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน เพื่อควบคุมการระบายและการผลักดันน้ำที่ปากแม่น้ำปัตตานีให้ไหลลงทะเลได้รวดเร็ว