
มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตยะลา จัดกิจกรรมวันสถาปนามหาวิทยาลัย พร้อมพิธีการต่างๆ มากมาย อาทิ การทำบุญตักบาตร พิธีการเปิดป้ายมหาวิทยาลัย การร่วมบริจาคเลือด และการจัดการแข่งขันฟุตบอลเชื่อมสัมพันธ์ของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฯ โดยมีศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน คณะครู อาจารย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตยะลา เข้าร่วมอย่างอบอุ่น เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา
ผ.ศ.จงรัก เขี้ยวแก้ว รองอธิการบดี ม.การกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตยะลา และ เลขาธิการสมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนจัดกิจกรรมวันสถาปนาวันนี้ทำให้หวนนึกถึงสมัยที่สถานที่แห่งนี้ยังเป็นวิทยาลัยพลศึกษา สถาบันการพลศึกษา และก้าวมาเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติในปัจจุบัน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้สร้างเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางด้านการศึกษาที่มีอยู่ทั่วในภูมิภาค และบุคลากรทางด้านการกีฬาที่ทำให้สังคมจับต้องได้และมองเห็นความเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬามากยิ่งขึ้น
“จากอดีตถึงปัจจุบันมีนักกีฬาระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียง มีผลงานเชิงประจักษ์ เป็นที่ยอมรับอย่างมากมาย อาทิ กีฬากรีฑามี พันเอก(หญิง)พิเศษ รัตนใจ ยืนยาว, ฟุตบอลมี พ.ต.อ.อนันต์ ทองสุข, นายพงศธร เทียบทอง, นายวินัย สุนทรวาที, นายวินิจ สุวรรณนัง, นายบุญเลิศ เอี่ยวเจริญ, กีฬาแฮนด์บอลมี สมรรถชัย คันธมาทน์ และอีกหลายๆ ท่านที่ผมไม่ได้เอ่ยนาม ยังมีอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่มีผลงานเชิงประจักษ์เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกคือกีฬาปันจักสีลัต เห็นได้จากการที่หลายๆ ประเทศส่งนักกีฬาเข้ามาเก็บตัวที่ม.การกีฬาแห่งชาติยะลาแห่งนี้ เช่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ แคนาดา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์
อีกทั้งผลสัมฤทธิ์จากการแข่งขันแทบทุกรายการในระดับนานาชาติ จะมีนักกีฬาที่เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมแข่งขันและได้รับรางวัลมาโดยตลอด อาทิ ส.อ.อับดุลเลาะ มะหลี, ส.อ.ประสิทธิ์ หว่าหลำ, นายอาดีลัน เจ๊ะเม็ง, นายสุรชาติ เป๊าะมะ หรือ นายซาบีดี สาและ และหลายต่อหลายคนด้วยกันที่มิได้เอ่ยนาม พวกเขาเหล่านี้คือเหล่านักกีฬาปันจักสีลัตทีมชาติที่โกยเหรียญรางวัลมาให้ประเทศไทยอย่ามากมายตลอดหลายปีหลัง รวมทั้งคณะอาจารย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ ผู้ฝึกสอน นักวิทยาศาสตร์การกีฬา รวมทั้งปัจจัยอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น สระว่ายน้ำ โรงฝึก ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาฯลฯ ทั้งนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการรองรับนักกีฬาชนิดต่างๆเข้ามาศึกษา สุดท้ายต้องขอขอบคุณนโยบาย 1 วิทยาเขต 1 ชนิดกีฬา ที่เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ วิทยาเขตยะลามีผลงาน ผลผลิตเป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักของหลายประเทศทั่วโลกด้วยครับ” ผ.ศ.จงรัก กล่าว