มจพ. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน แก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยและลดปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19
จันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16.06 น.
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา มจพ. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ออกแบบและสร้างนวัตกรรมต่างๆ สู้โรคโควิด-19 มอบให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยและลดปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ช่วยเหลือแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้
- สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ. ออกแบบหน้ากากเสริมแผ่นกรองเส้นใยนาโน มอบให้โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 1,000 ชิ้น
- สำนักพัฒนาเทคนิคศึกษา มจพ. ออกแบบและผลิตกล่องป้องกันการแพร่กระจายเชื้อผู้ป่วย มอบให้สถาบันบำราศนราดูร
- คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ออกแบบและผลิตหน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์ มอบให้กองพิสูจน์หลักฐานและชุมชนรอบ มจพ.
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. ออกแบบและผลิตหน้ากาก Face Shield 40,000 ชิ้น มอบให้สภากาชาดไทย
- ศูนย์วิจัยเผากากของเสีย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. ออกแบบและผลิตเตาเผาขยะติดเชื้อขนาดเล็ก มอบให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ
- คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มจพ. ออกแบบและผลิตตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี นวัตกรรมด้านความปลอดภัยเพื่อรับมือโควิด-19 มอบให้กับวชิรพยาบาล 5 เครื่อง โรงพยาบาลภูมิพล 2 เครื่อง โรงพยาบาลทหารผ่านศึก 2 เครื่อง โรงพยาบาลราชวิถี 9 เครื่อง และส่งมอบให้โรงพยาบาลอื่น ๆ อีกทั่วประเทศ
- วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. ออกแบบและผลิตหน้ากาก Full Face พร้อมข้อต่อสำหรับประกอบชุดปรับแรงดัน (mini PAPR) มอบให้กับคณะแพทย์ศาสตรวชิรพยาบาล จำนวน 50 ชุด
- วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (มจพ.) ร่วมกับ CPAC และวิศวกรรมสถานแห่ง ประเทศไทยฯ ออกแบบและสร้าง “ห้องความดันลบ” มอบให้กับโรงพยาบาลทางภาคเหนือ และโรงพยาบาลในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) จำนวน 31 ห้อง
- มจพ. ส่งมอบตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี ให้กับโรงพยาบาลทางภาคใต้ โดยมี บริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด จัดส่งให้ฟรี เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาล ดังนี้ โรงพยาบาลหัวหิน โรงพยาบาลนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลสิงหนคร โรงพยาบาลปาดังเบซาร์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลระแงะ โรงพยาบาลบาเจาะ โรงพยาบาลสุไหงโกลก โรงพยาบาลจะแนะ และโรงพยาบาลอื่น ๆ กว่า 250 เครื่อง
- คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มจพ. ส่งมอบตู้อบฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีให้กับโรงพยาบาลบ้านแพ้วสมุทรสาคร จำนวน 5 เครื่อง
- มจพ. ออกแบบและผลิตหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์ IRAPs SHaRE-aGIVeR มอบให้แก่คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. ออกแบบและผลิตตู้ตรวจโรคโควิด-19 ความดันบวก มอบให้แก่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารเพื่อใช้ในการคัดกรองโรค
- มจพ. ร่วมกับ มก. และ สกสว. ออกแบบและผลิตหน้ากากป้องกันสารพิษทางการทหารพร้อมไส้กรองมาตรฐานสูง มอบให้กับศูนย์อำนวยการแพทย์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 30 ชุด
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. ออกแบบและผลิตเครื่องจ่ายข้าวสารอัตโนมัติ ถวายแด่เจ้าอาวาสวัดเสมียนนารี จำนวน 1 เครื่อง
- ทีมนักวิจัย นักศึกษา มจพ. คณะวิศวกรรมศาสตร์ ออกแบบและผลิตหุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบหลายแกนฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC แบบบังคับขับเคลื่อนล้อแมคคานั่ม นำไปทดสอบการฆ่าเชื้อในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มจพ. มุ่งมั่นที่จะพัฒนาคน พัฒนานวัตกรรม พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มีความรู้ ความสามารถ ประดิษฐ์ คิดค้น นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติอย่างแท้จริง”
ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านร่วมบริจาคเงิน เข้ากองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยและต้านภัยโควิด เพื่อเป็นเงินทุนวิจัยสำหรับสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ป้องกัน ควบคุม รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) โรคติดเชื้ออื่น ๆ ให้กับสถานพยาบาลและหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยเหลือ บรรเทาและเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ชื่อบัญชี “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยและต้านภัยโควิด มจพ.” ธนาคารกรุงเทพ สาขา มจพ. เลขที่บัญชี 907-3-50043-2 หรือเว็บไซต์ https://covid-19.kmutnb.ac.th/donate_info.php ใบเสร็จรับเงินสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 200% สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองคลัง โทรศัพท์ 0-2555-2000 ต่อ 1602-1604 กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ ต่อ 1121, 1166, 2091, 1175
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
-
เห็นด้วย
0%
-
ไม่เห็นด้วย
0%