เมื่อวันอังคาร 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมาผมได้นำเสนอเรื่องเล่าของป๋าเปรม เรื่อง “สานใจไทย สู่ใจใต้”โครงการตอบแทนคุณของแผ่นดิน สัปดาห์นี้ ดร.สุเมต สุวรรณพรหม เสนอว่าวันนี้ให้ย้อนกลับไป ถึงสาเหตุที่เกิดความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ทั้ง5จังหวัดและวิธีการแก้ปัญหา ดับไฟใต้ เผื่อว่าผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะทดลองนำไปใช้ดูบ้างครับ โดยได้เริ่มต้นเล่าให้ผมฟังว่า
ช่วงเวลาของปี พ.ศ 2519 ถึง 2522 ในขณะนั้นพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่สถานการณ์ภายในประเทศประสบปัญหาความรุนแรงจากการก่อการร้าย ของคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยสตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา ก็ต้องประสบปัญหาผู้ก่อการร้าย อย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน
ซึ่งสาเหตุ ที่เกิดจากพวกขบวนการโจรก่อการร้ายโจรจีนคอมมิวนิสต์และโจรผู้ร้ายธรรมดาที่ถือโอกาสปล้นสะดมประชาชน ข่มขู่เรียกค่าคุ้มครอง ปิดถนน เผาโรงเรียนปล้นรถทัวร์ ส่งผลกระทบกระเทือนต่อขวัญและความสงบสุขในการทำมาหากินของราษฎรเป็นอันมาก แม้กำลังของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทั้งฝ่ายปกครองตำรวจและทหารจะเข้าปราบปรามอย่างหนัก แต่เหตุการณ์ก็ไม่ดีขึ้นและกลับเลวร้ายลงไปอีกเนื่องจากพวกก่อการร้ายเหล่านี้พยายามสร้างเงื่อนไข และเหตุการณ์หลายอย่าง ที่ดึงเอาเรื่องศาสนาอิสลามซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับถือและศรัทธาเข้ามาเกี่ยวข้องจนเกิดความเข้าใจผิดกันขึ้นระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง
และเมื่อ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ เร่งพิจารณาปัญหานี้และเสนอแนะแนวทางแก้ไขโดยด่วนเมื่อเดือนเมษายนพ.ศ 2523
ถึงตอนนี้ นต.ประสงค์ สุ่นศิร ได้เล่าว่า ในตอนนั้น ผมยังเป็นรองเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งในขณะนั้นได้สั่งการให้ผมรีบดำเนินการในเรื่องนี้
ความจริงแล้วสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติได้เคยศึกษาปัญหาต่างๆของจังหวัดชายแดนใต้และติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์มาโดยตลอดและได้เคยเสนอแนะรัฐบาลในชุดก่อนก่อนเกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้บ้างแล้วและผมเองรวมทั้งเจ้าหน้าที่ก็ได้เดินทางไปในพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริงของปัญหาต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่เป็นประจำ
ดังนั้นข้อมูลต่างๆ จึงพอจะมีอยู่บ้างเมื่อได้รับคำสั่งให้ดำเนินการตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี ผมและเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เดินทาง ดูสถานการณ์และตรวจสอบข้อเท็จจริง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกจังหวัด ทุกอำเภอแม่กระทั่งตำบลและหมู่บ้านอีกครั้งหนึ่งในช่วงระยะเวลา ของเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ 2523 ได้พบปะกับประชาชนตามหมู่บ้าน ครูตามโรงเรียนต่างๆ
ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นครูอิสลามบรรดาผู้นำมุสลิมในแต่ละ ท้องถิ่น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ได้ร่วมประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่กองทัพภาคที่ 4 หลายต่อหลายครั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา ก็ได้เข้าร่วมประชุมด้วยหลายครั้ง ที่กองทัพภาคที่ 4 ค่ายคอหงส์อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลาและได้เดินทางไปดูเหตุการณ์กับผมในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์รุนแรงหลายแห่ง
น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ได้สรุปประเด็นสำคัญต่างๆได้คือ
ข้อ 1.การแก้ไขปัญหาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้แม้จะมีนโยบายความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐบาลกำหนดไว้แล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีแผนแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เจ้าหน้าที่ยังขาดการประสานงานในการทำงาน เพราะแต่ละหน่วยงานมีแผนของตนเองและมีสายการบังคับบัญชาควบคุมของตน โดยเฉพาะ ซึ่งต้องรายงานเข้าสู่ส่วนกลางในกรุงเทพฯ ทำให้ไม่สามารถตกลงใจในพื้นที่ได้ด้วยลำพังตนเอง
ข้อ2.การแก้ไขปัญหาต่างๆกระทำไม่ต่อเนื่องเมื่อมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก็แก้ไขกันคราวหนึ่งไม่มีการทำงานอย่างเป็นระบบขาดการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
ข้อ 3.ข้าราชการยังมีการปฏิบัติงานและมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมหลายอย่างในการทำงานเพื่อบริการประชาชนรวมทั้งความรู้ความเข้าใจในการทำงานในพื้นที่ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแตกต่างจากพื้นที่ภาคอื่นๆ ของประเทศ
ข้อ 4.ความแตกต่างทางศาสนาระหว่างไทยพุทธและไทยอิสลามไม่ใช่เป็นตัวปัญหาหากแต่เป็นเรื่องของการฉวยโอกาสแอบอ้างใช้ศาสนา เป็นเครื่องมือก่อความวุ่นวายเท่านั้น
ข้อ 5.ยังมีประชาชนนิยมและพูดภาษาไทยน้อยโรงเรียนปอเนาะที่จัดตั้งกันไว้อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายสมควรดำเนินการให้เป็นโรงเรียนราษฎร์ สอนศาสนาอิสลามอย่างถูกกฎหมายและสนับสนุนเรื่องครูวัสดุอุปกรณ์ในการเรียนการสอนให้ดีขึ้น
ข้อ 6.ความยากจนในการทำมาหากินของราษฎรในหมู่บ้านห่างไกล เส้นทางคมนาคมยังเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข
ข้อ 7.การประชาสัมพันธ์ของรัฐ ยังขาดประสิทธิภาพ ในการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมุสลิม เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์อย่างถูกต้อง
ข้อ 8.ขวัญของประชาชนและเจ้าหน้าที่หลายหน่วยตกต่ำสืบเนื่องมาจากความไม่สามารถให้ความคุ้มครองปลอดภัยได้อย่างเต็มที่เพราะกำลังพลที่ขาดแคลนในบางหน่วย และบางหน่วยยังมีกำลังพลที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งขาดแคลน อุปกรณ์เครื่องมือ
ประเด็นสำคัญ 8 ประการดังกล่าวนี้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้นำเสนอ ต่อ ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งมีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ร่วมกันพิจารณาหารือ ถึงแนวทางปฏิบัติ ในชั้นต้น ก่อนนำเสนอพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
หลังจากนั้น พลเอกเปรม ได้สั่งการให้นัดประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หลังประชุมแล้วพลเอกเปรมในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้สั่งการ ให้สรุปเรื่องสำคัญรวม 3 เรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา คือ.. “จำเป็นต้องมีการปรับปรุงการบริหารราชการด้านต่างๆ รวม 3 ด้านคือระบบบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านประสิทธิภาพข้าราชการ และด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้”
และนี่คือ หัวใจสำคัญในการดับไฟใต้ วันนี้พื้นที่หมดแล้วจะขอนำรายละเอียด มานำเสนอในตอนต่อไป ท่านใดต้องการอุดหนุนหนังสือ รัฐบุรุษคู่แผ่นดิน ติดต่อ ไปได้ ที่ดร.สุเมธ สุวรรณพรม โทรศัพท์ และ ID Line 081 110 3939ข่าวดีว่าจะมอบ หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด จากวัดพะโค้ะจังหวัดสงขลา ให้ด้วย และขอบคุณภาพประกอบบทความนี้จากเว็ปไซด์กรมศิลปากร สวัสดีครับ