เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
ดร.ทวีศักดิ์เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (30 ม.ค.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 58,002 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุอ่างฯเป็นน้ำใช้การได้ 34,060 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 18,333 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 74 ของความจุอ่างฯปริมาณน้ำใช้การได้ 11,637 ล้าน ลบ.ม.ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำทั้งประเทศไปแล้วกว่า 11,155 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 3,761 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) ในส่วนของสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำ 4 สายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำท่าจีน, แม่น้ำปราจีน-บางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ
สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 7.96 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 5.56 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 84 ของแผนฯ โดยพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังตามการปรับปฏิทินการเพาะปลูก เต็มพื้นที่แล้ว คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี’65/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนด ทั้งนี้ ได้กำชับโครงการชลประทานในพื้นที่ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้
ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน จะทำให้ระหว่างวันที่ 2-3 ก.พ.66 ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ พร้อมปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ทั้งการจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแทรกเตอร์ รถขุด และอื่นๆ เข้าประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยง รวมไปถึงการกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ที่สำคัญให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด