สังคม-สตรี
กยท.เร่งวางแผนสู่โรคใบร่วงระบาด ขีดเส้นตายยับยั้งให้ได้ก่อนพ.ค.นี้
วันพฤหัสบดี ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 16.32 น.
คลิกที่นี่
ประธาน กยท.นำทีมลงพื้นที่ภาคใต้สำรวจสวนยางพาราโดนโรคใบร่วงทำลาย กว่า900,000ไร่ โดยเฉพาะสวนยางตามเขตภูเขา มีความชื้นสูง ระบาดหนัก เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการช่วยเหลือยับยั้งโรคให้ได้ก่อนเดือนพฤษภาคมนี้ ย้ำพี่น้องเกษตรกรให้หมั่นสังเกตรอยโรค
นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่สำรวจสวนยางพาราทางภาคใต้ของประเทศไทย พบการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ มีสาเหตุจากเชื้อรากลุ่ม Colletotrichum sp. และ Pestalotiopsis sp. ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสตูลกว่า 900,000ไร่ บริเวณที่พบการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่มากที่สุดคือ สวนยางพาราใน จ.นราธิวาส ราว 720,000ไร่ รองลงมาคือ จ.ยะลา โดยเฉพาะสวนยางพาราในเขตอำเภอรามัน และอำเภอบันนังสตา รวมพื้นที่สวนยางเสียหายกว่า 9 0,000ไร่ ในส่วนของปัตตานีและสตูลพบการระบาดของโรคประปราย
สำหรับโรคใบร่วงชนิดใหม่นี้มีการระบาด ในประเทศอินโดนีเซียมาก่อน มีสวนยางได้รับความเสียหายไปกว่า 2.5 ล้านไร่ จากนั้นได้เข้ามาระบาดในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2562 มีสวนยางได้รับผลประทบ 700,000 ไร่ แต่ในครั้งนั้น ต้นยางไทยยังแข็งแรงยังสามารถให้น้ำยางได้ อย่างไรก็ตามต่อมาในปี 2563-ปัจจุบัน มีการระบาดอีกครั้งกว่า 900,000 ไร่ดังกล่าว โดยครั้งนี้ยอดอ่อนยางโดนทำลาย ไม่สามารถให้น้ำยางได้ ทำให้น้ำยางสดจากจ.นราธิวาสลดลงจากตลาดกว่าครึ่งจากสถานการณ์ปกติ
“ในปีนี้เราพบข้อสังเกตว่าบริเวณที่มีการแพร่ระบาดหนักเป็นสวนยางพาราที่ปลูกบนภูเขาและมีความชื้นในอากาศสูง ส่วนสวนยางในพื้นที่ราบมีการระบาดไม่รุนแรง ดังนั้นในขณะนี้ กยท.ได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เร่งคิดค้นแผนช่วยเหลือ รวมทั้งองค์ความรู้เพื่อยับยั้งโรคระบาดในพื้นที่ทั้ง 2 แบบดังกล่าว ในเบื้องต้นสามารถยับยั้งโรคได้โดยวิธีผสมผสานระหว่างสารชีวภัณฑ์ สารเคมี บวกกับกระบวนการจัดการสวนที่ดี” ประธานกรรมการ กยท.กล่าว
ทั้งนี้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางจะต้องหมั่นสังเกตใบยางที่ร่วงว่ามีร่องรอยของโรคหรือไม่ หากมีแผลที่ใบยางแสดงว่าต้นยางติดเชื้อแล้ว ซึ่งขณะนี้กยท.ได้ดำเนินการเผยแพร่เอกสารเพื่อให้ความรู้เรื่องโรคใบร่วงชนิดใหม่แจกจ่ายไปในพื้นที่ทั้งหมดแล้ว พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เรื่องโรคให้พื้นที่ทั้งช่องทางวิทยุท้องถิ่น เสียงตามสาย ป้ายประกาศ เป็นต้น
“ในช่วงนี้ยางเริ่มผลัดใบ เชื้อหยุดระบาดเนื่องจากไม่มีอาหาร กยท.จะต้องเร่งดำเนินการทำแผนงานระงับยับยั้ง และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ทั้ง 2 แบบอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพโดยด่วนที่สุด อย่างช้าภายในเดือนพฤษภาคมหรือก่อนฤดูฝนที่เป็นฤดูที่เหมาะแก่การเติบโตของเชื้อโรค เพื่อป้องกันพื้นที่ปลูกยางอีกกว่า 2 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกร่วม 400,000บาทไม่ให้เกิดความเสียหาย ทั้งนี้จากความร่วมมือของหน่วยงานทุกฝ่าย กยท.มีความเชื่อมั่นในการควบคุมโรคระบาดครั้งนี้ได้ และยังถือว่าโชคดีที่พื้นที่ปลูกสวนยางพาราในภาคเหนือและภาคอีสานยังไม่พบรายงานรอยโรคใบร่วงชนิดใหม่แต่อย่างใด” นายประพันธ์กล่าว
คลิกที่นี่