เงาะป่าไม่ได้มีเพียงในบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น เพราะที่จังหวัดยะลาแห่งนี้ คุณจะได้ทำความรู้จักกับ “เงาะซาไก” ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนกลุ่มหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในป่าดงดิบทางภาคใต้ของไทย แต่เดิมนั้นเงาะป่าซาไกกลุ่มนี้ดำรงชีพ ด้วยการหาของป่า ใช้ชีวิตกับธรรมชาติ มีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร ล่าสัตว์ด้วยการเป่าลูกดอก และมีอาวุธล่าสัตว์และป้องกันตัวเองที่เรียกว่า “กระบอกตุด” สำหรับบ้านเรือนของซาไกนั้น นิยมสร้างด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาจาก ต่อมากรมประชาสงเคราะห์ได้พัฒนาหมู่บ้านแห่งนี้ โดยรวบรวมชาวซาไกมาอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน จัดหาอาชีพทำสวนยางให้ และได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ขอพระราชทานพระอนุญาตให้ใช้คำว่า “ศรีธารโต” เป็นนามสกุลชาวซาไกทุกคน แม้ปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวซาไกได้เริ่มปรับตัวและผสมผสานกับวัฒนธรรมเมืองมากขึ้น หากหลายคนก็ยังอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดิมและต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยความใสซื่อ ซึ่งการได้มีโอกาสมาเยือนหมู่บ้านซาไกนี้ นับเป็น การเปิดโลกกว้างที่ทำให้เราเข้าใจถึงมิตรภาพความเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ความต่างของเผ่าพันธุ์ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ที่ตั้ง : หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแหร ห่างจากตัวจังหวัดยะลาไปทางเบตงประมาณ 80 กิโลเมตร