วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2565
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ ท่าอากาศยานเบตง เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งในพื้นที่จังหวัดยะลา กระตุ้นเศรษฐกิจและความมั่นคง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
กระทรวงคมนาคม โดยกรมท่าอากาศยาน (ทย.) พร้อมเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา ตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แก้ไขปัญหาการเดินทางสู่อำเภอเบตงที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ไม่สะดวกต่อการเดินทางให้สามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า อำเภอเบตงเป็นอำเภอใต้สุดของประเทศไทยติดกับชายแดนของประเทศมาเลเซีย ถือเป็นเมืองชายแดนที่มีการเคลื่อนไหวทางธุรกิจและการค้าขายสูง ประกอบกับมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ รวมถึงภาษาที่หลากหลาย และธรรมชาติมีความสวยงามทำให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบ รัฐบาลจึงได้มอบให้กระทรวงคมนาคมในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการยกระดับการให้บริการประชาชน ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการคมนาคมขนส่งให้มีความคุ้มค่าและทั่วถึง ดำเนินการพัฒนาระบบการขนส่งของพื้นที่จังหวัดยะลา
โดยมีแนวทางที่สำคัญ คือ การพัฒนาบริการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล รวมทั้งพัฒนาด่านศุลกากรชายแดน ศูนย์เศรษฐกิจชายแดน และการอำนวยความสะดวกผ่านแดนที่รวดเร็ว ตลอดจนผลักดันการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทางบกและทางอากาศ เพื่อให้เกิดระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ สามารถรองรับการค้าและการลงทุนที่จะสูงขึ้นจากการเป็นประชาคมอาเซียน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ จึงมีดำริให้ขยายขีดความสามารถของระบบท่าอากาศยานภูมิภาค เพื่อสร้างประโยชน์ให้ประชาชนในหลายด้าน เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย กระทรวงคมนาคม โดย กรมท่าอากาศยาน จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 และนโยบายการพัฒนา 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว เนื่องจากอำเภอเบตงมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ให้กับจังหวัด รองจากอําเภอเมืองยะลา แต่การเดินทางในปัจจุบันต้องอาศัยการเดินทางทางถนนเป็นหลัก ซึ่งสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ถนนแคบและคดเคี้ยวลาดชันเป็นช่วงๆ ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางจากอำเภอเบตงไปยังเมืองอื่นๆ
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการคมนาคมของอําเภอเบตงและพื้นที่ใกล้เคียง ท่าอากาศยานเบตงจึงเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการบินสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดี ท่าอากาศยานเบตงได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ซึ่งมีความพร้อมให้บริการตามมาตรฐาน เริ่มให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แรก โดยสายการบินนกแอร์ เส้นทางกรุงเทพฯ – เบตง – กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 มีนาคม 2565 ซึ่งเส้นทางการบินและการขึ้น – ลงของอากาศยานจะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น นอกจากเส้นทางให้บริการภายในประเทศแล้ว ท่าอากาศยานเบตงยังมีความพร้อมที่จะมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Regional Hub) เส้นทางระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ในอนาคตด้วย
ท่าอากาศยานเบตง เป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2560 แล้วเสร็จในปี 2562 ตั้งอยู่ในตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา บนพื้นที่ 920 ไร่ ประกอบด้วย ทางขับ จำนวน 2 เส้น ทางวิ่ง กว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร ลานจอดเครื่องบินรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง (ATR-72 และ Q-400) จำนวน 3 ลำ อาคารที่พักผู้โดยสารมีพื้นที่ใช้สอยขนาด 7,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง หรือ 800,000 คนต่อปี และลานจอดรถยนต์ จำนวน 140 คัน
จะเริ่มให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แรก โดยสายการบินนกแอร์ เส้นทางกรุงเทพฯ – เบตง – กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 มีนาคม 2565 และให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์) โดยดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามประกาศของ กพท. และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ
ทั้งนี้ กรมท่าอากาศยาน อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของแผนพัฒนาท่าอากาศยานเบตง ด้วยการขยายทางวิ่งเพิ่มอีก 700 เมตร เป็น 2,500 เมตร ขยายทางขับจากความกว้าง 18 เมตร เป็น 23 เมตร ขยายลานจอดเครื่องบินจากเดิมที่มีขนาด 94 x 180 เมตร เป็นขนาด 94 x 240 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินขนาด 180 ที่นั่ง (แอร์บัส A380 และโบอิ้ง 737) จำนวน 3 ลำ และขยายพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่งไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกอีก 240 เมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานในอนาคต