เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เทศบาลนครยะลา ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำเสียตามสถานที่สุ่มเสี่ยงใกล้โรงพยาบาลและชุมชนในเขตเทศบาลนครยะลา 27 แห่ง เพื่อตรวจหาซากเชื้อโควิด-19 ที่อาจตกค้างในน้ำเสีย หลังได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการหาสารพันธุกรรมของไวรัส
โดยการเก็บตัวอย่างน้ำเสียครั้งนี้เป็นการตรวจหาซากเชื้อโควิด-19 ในน้ำ จากการใช้น้ำของชาวบ้านในชุมชน ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถคาดการณ์ถึงจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการได้ นอกจากนี้ยังช่วยประเมินความจำเป็นว่าจะต้องเข้มงวดในพื้นที่หรือไม่ อย่างเช่น มาตรการล็อกดาวน์พื้นที่และประเมินการติดเชื้อในชุมชนที่เพิ่มขึ้นหลังคลายล็อกและยังเป็นการเฝ้าระวังการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ รวมถึงยังสามารถประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนได้ด้วย
การตรวจน้ำเสียจะใช้เทคนิค LAMP (Loop-mediated Isothermal Amplification) จะได้มาตรฐานที่น่าเชื่อถือ สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าหากพบสารพันธุกรรมของเชื้อในน้ำเสียที่บอกระดับความเข้มข้นและบริเวณพื้นที่ต่างๆ ของชุมชน จะใช้เป็นฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ที่ใช้ใน 58 ประเทศทั่วโลก ซึ่งหากพบเชื้อก็จะสามารถแจ้งเตือนก่อนการแพร่ระบาดได้ 3-14 วัน