ติดเชื้อใหม่ลดต่ำกว่า 2หมื่น เสียชีวิตเพิ่ม 138 ราย รักษาหาย 1.8 หมื่นราย สธ.ชี้โควิด กทม.เริ่มชะลอตัว ขณะที่ต่างจังหวัดคาด 1 เดือนคุมอยู่ นายกฯ ชื่นชมแพทย์ชนบทระดม 38 ทีมช่วยคัดกรองเชิงรุกเมืองหลวง บุรีรัมย์สั่งล็อกดาวน์หมู่บ้านหลังเจอคลัสเตอร์ฝรั่งกิมจู
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,983 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 19,627 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16,780 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2,847ราย, จากเรือนจำและที่ต้องขัง 350 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 6 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 756,505 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 18,503 ราย ยอดรวมหายป่วยแล้ว 535,515 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 214,786 ราย อาการหนัก 5,157 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,070 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 138 ราย เป็นชาย 68 ราย หญิง 70 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิตที่บ้าน 1 ราย คือที่ จ.ยะลา ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 6,204 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ป่วยสะสม 202,978,883 ราย เสียชีวิตสะสม 4,299,649 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 3,080 ราย, ชลบุรี 1,476 ราย, สมุทรสาคร 1,391 ราย, สมุทรปราการ 1,137 ราย, นนทบุรี 757 ราย, ปทุมธานี 662 ราย, นครปฐม 578 ราย, ฉะเชิงเทรา 449 ราย, สระบุรี 396 ราย, พระนครศรีอยุธยา 393 ราย พบคลัสเตอร์ในต่างจังหวัด 8 แห่ง ประกอบด้วย ที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 2 แห่งคือ บริษัทภาชนะพลาสติก พบผู้ติดเชื้อ 10 ราย และโรงงานเสื้อผ้าเด็ก 16 ราย, บริษัท อิเล็กทรอนิกส์ ต.บางปะกง อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี 19 ราย, บริษัทรองเท้า อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร 65 ราย, บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า อ.เมืองฯ จ.ปทุมธานี 9 ราย, โรงงานไก่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 10 ราย, บริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา 11 ราย, โรงงานชำแหละเนื้อสัตว์ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี 31 ราย
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ที่มีแต่ผู้ป่วยนำเข้า เป็นการติดเชื้อจากจังหวัดอื่นและกลับภูมิลำเนา ส่วนใหญ่บริหารจัดการได้ดี ผู้ป่วยรายงานตัวนำเข้าระบบรักษาและไม่แพร่เชื้อต่อ จังหวัดเหล่านี้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น ส่วนจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อในพื้นที่อยู่บ้าง อาจต้องใช้เวลาป้องกันและควบคุมให้โรคสงบลง
“จากประสบการณ์ของเรา หากไม่ใช่การระบาดในวงกว้างมาก การควบคุมให้ไม่มากเกินขีดความสามารถการรักษาพยาบาลในพื้นที่ คาดว่าใช้เวลา 1 เดือน เช่น ภาคอีสานตอนบน ภาคกลางตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคใต้ ส่วนพื้นที่น่าเป็นห่วงจริงๆ น่าจะยังเป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดย กรุงเทพฯ มีสัญญาณว่าอาจเริ่มชะลอตัว จากจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนไม่พุ่งก้าวกระโดด จำนวนไม่เกิน 100 รายต่อวัน ส่วนข้อมูลการตรวจหาเชื้อด้วยแอนติเจนเทสต์คิต (ATK) ตัวเลขใน 2 วันนี้ไม่เกินร้อยละ 10 แสดงว่าการติดเชื้อค่อนข้างคงที่ รวมถึงฉีดวัคซีนไปเยอะแล้ว ผู้สูงอายุตามทะเบียนบ้านฉีด ร้อยละ 80 แล้วอีก 2-3 วัน คงเกินร้อยละ 90 รวมถึงที่ไม่มีทะเบียนบ้านอีก 2 แสนคน ทยอยฉีดไปเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อมีภูมิคุ้มกัน โอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตก็น้อยลง แต่ปริมณฑลจะต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง เพราะเกิดขึ้นทีหลัง และวัคซีนยังได้ไม่เท่ากับกรุงเทพฯ แต่เร่งในกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป/ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง/หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ให้บรรลุในปลายเดือนนี้
ทางด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชื่นชมความเสียสละและอุทิศตนของทีมแพทย์ชนบท 38 ทีมจากทั่วประเทศ ร่วมดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ กทม. ระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค. ตามแนวทางของ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข คือเร่งตรวจหาเชื้อ เพื่อคัดแยกผู้ป่วยออกให้เร็วที่สุด ซึ่งผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยจะถูกจัดระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และที่ชุมชน (Community Isolation) พร้อมจ่ายยาฟ้าทะลายโจรหรือยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ช่วยลดการแพร่ระบาด ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ มีเป้าหมายคัดกรองผู้ป่วย จำนวน 250,000 ราย และตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ยังได้ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังเพื่อให้บริการครบวงจรด้วย
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำหรับผู้ป่วยเด็กที่พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าให้การดูแล รวมถึงกรณีเด็กกำพร้าเนื่องจากพ่อแม่หรือผู้ดูแลเสียชีวิตทั้งหมดจากโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ยังร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต และองค์การยูนิเซฟประเทศไทย จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 หากประชาชนพบเห็นเด็กกำพร้าหรือกลุ่มเปราะบางกำลังประสบปัญหาทางสังคมและความเดือดร้อนจากผลกระทบของโรคโควิด-19 สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ 1.ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร.1300 2.สายด่วนคนพิการ โทร.1479 3.สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ และ 4.อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่
วันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำคณะไปตรวจความพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เขตบางแค แห่งที่ 1 ตั้งอยู่ที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค (เรืองสอน) ซึ่งเป็นศูนย์พักคอย 1 ใน 7 แห่ง ที่กรุงเทพมหานครเตรียมขยายศักยภาพในการรองรับผู้ป่วย และแห่งที่ 2 บริเวณโรงเรียนคลองหนองใหญ่ ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่าขณะนี้ กทม.ได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อแล้ว 65 แห่ง สามารถเปิดรับผู้ป่วยได้แล้ว 50 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 8,597 ราย และยังมีศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถานประกอบการ และประชาชนทั่วไป อีก 5 แห่ง สามารถรับผู้ป่วยได้ 960 ราย นอกจากนี้ ยังมีศูนย์พักคอยแบบ Semi Community Isolation อีก 23 แห่ง สามารถรับผู้ป่วยได้ 527 ราย รวมจำนวนศูนย์พักคอยฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวนทั้งสิ้น 93 แห่ง สามารถรับผู้ป่วยได้ 10,084 ราย
จากนั้น พล.ต.อ.อัศวินได้เดินทางไปตรวจความคืบหน้าการสร้างห้องความดันลบ หรือโมดูลาร์ไอซียู สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดที่อาการรุนแรง (สีแดง) ที่ชั้น 1 โรงพยาบาลสนามราชพิพัฒน์ 1 พร้อมกล่าวว่า กทม.ได้ปรับระบบการรักษาและพื้นที่บริเวณ ชั้น 1 ของโรงพยาบาลสนามราชพิพัฒน์ 1 จากเดิมใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยสีเหลือง สร้างเป็นห้องความดันลบ เพื่อรองรับผู้ป่วยสีแดงเพิ่มเติมได้ 40 เตียง ขณะนี้การดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว จะเปิดรับผู้ป่วยโควิดที่อาการรุนแรง (สีแดง) ในช่วงบ่าย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เปิดบริการโมดูลาร์ไอซียู แล้ว 4 อาคาร (ICU 1, 2, 3, 4) รองรับผู้ป่วยได้ 40 เตียง ผู้ป่วยเข้าพักเต็มแล้ว โดยมีแพทย์และพยาบาลจาก รพ.ราชพิพัฒน์ และ รพ.ธนบุรี ร่วมดูแลผู้ป่วย
ที่ จ.สมุทรปราการ นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 1,137 ราย เสียชีวิต 2 ราย เป็นเพศหญิงอายุ 74 ปี และอายุ 68 ปี มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง รวมเสียชีวิตสะสม 466 ราย รวมผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จนถึงปัจจุบันจำนวน 48,091 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ 2,140 ราย กำลังรักษาในโรงพยาบาลเอกชน 2,801 ราย รักษาใน Hospitel มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีสมุทรปราการ 1,267 ราย
ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ รายงานว่า สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง พบผู้ป่วยรายใหม่ 352 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 6,572 ราย เสียชีวิตสะสม 12 ราย รักษาหายแล้ว 874 ราย ยังรักษาอยู่ 5,686 ราย กระจายตามโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่จังหวัด ทั้งนี้ นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ออกคำสั่งล็อกดาวน์บ้านหนองปรือน้อย ต.สวายจีก อ.เมืองบุรีรัมย์ เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่ 7-20 ส.ค. หลังพบคลัสเตอร์ใหม่จากกรณีที่ชาวบ้านในหมู่บ้านนำฝรั่งกิมจูไปขายที่ตลาดแห่งหนึ่งใน จ.สุรินทร์ แล้วตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 ก่อนจะมาแพร่กระจายสู่สมาชิกในครอบครัวและคนในหมู่บ้านรวมจำนวน 8 ราย
ที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยใหม่เริ่มลดลง แต่ยังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ที่ 237 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 81 ราย และผู้ป่วยสะสมทั้งหมดทะลุยอดหลักหมื่นจำนวน 10,353 ราย รักษาหายแล้วจำนวน 4,270 ราย ยังรักษาอยู่จำนวน 6,002 ราย
ที่ จ.สงขลา นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 365 คน เสียชีวิต 1 คน ทั้งนี้ การใช้มาตรการหมู่บ้านป้องกันโควิดจะเป็นมาตรการหนึ่งที่ลดการแพร่เชื้อโควิด ขณะนี้กรรมการหมู่บ้านได้มีการตั้งกติกาในการดูแลกันเอง ประกาศหมู่บ้านสีฟ้าไปแล้ว 569 หมู่บ้าน จาก 900 หมู่บ้าน
ที่ จ.ปัตตานี ติดเชื้อรายใหม่ 219 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 ราย
ที่ จ.ตาก เจ้าหน้าที่ทีมสอบสวนโรคโรงพยาบาลอุ้มผาง ได้ใช้รถโฟร์วีลเดินทางด้วยความยากลำบากกว่า 7 ชั่วโมง ไปยังหมู่บ้านบ้านเลตองคุ (หมู่บ้านกะเหรี่ยงลัทธิฤาษีผมยาว) ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง ซึ่งชาวบ้านสวนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงที่นับถือลัทธิฤาษี โดยมีข่าวว่าติดเชื้อโควิดแล้ว 3 ราย เจ้าหน้าที่จึงเร่งตรวจหาเชื้อจากผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและแจ้งให้ชาวบ้านแยกกันอยู่ทันที.