ย่านดาโอ๊ะ หรือ ใบไม้สีทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Phanera aureifolia (K. Larsen & S. S. Larsen) Bandyop., P.P. Ghoshal & M. K. Pathak มีถิ่นกำเนิดที่เทือกเขาบูโด พบครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกบาโจ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และขึ้นอยู่ในป่าดิบชื้นบริเวณที่โล่งริมธารบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา จ.ยะลา เป็นพันธุ์ไม้หายากของไทยที่ค้นพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก
ย่านดาโอ๊ เป็นไม้ประจำถิ่นมีสถานภาพใกล้จะสูญพันธุ์ ได้พระราชทานมาให้ปลูกที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เมื่อ พ.ศ. 2539 จำนวน 13 ต้น และเมื่อ พ.ศ.2542
เป็นไม้เถาเนื้อแข็งมีขนกำมะหยี่สีน้ำตาลหนาแน่นตามหูใบ แผ่นใบ ช่อดอก และฝัก หูใบรูปเคียวยาว 1-1.5 เซนติเมตร ใบเป็นรูปไข่กว้างเกือบกลมยาวได้ถึง 20 ซม. แฉกลึกไม่เกินกึ่งหนึ่ง ปลายแฉกรูปสามเหลี่ยมกลม โคนรูปหัวใจ เส้นโคนใบข้างละ 5-6 เส้น ก้านใบยาวได้ถึง 5 ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนงสั้น ๆ ตาดอกรูปรียาวประมาณ 1 ซม. ก้านดอกยาวประมาณ 1 ซม. ใบประดับรูปใบหอก ยาว 6-8 มม. ใบประดับย่อยติดใกล้ใต้ฐานดอก กลีบเลี้ยง 3-5 กลีบ ดอกสีขาวเปลี่ยนเป็นสีครีม กลีบรูปใบพาย ยาว 1.5-1.8 ซม. ขอบจักมน เกสรเพศผู้ 3 อัน ยาวกว่ากลีบดอกเล็กน้อย อับเรณูสีชมพู เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 1-2 อัน รังไข่มีขนยาวสีน้ำตาลหนาแน่น ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 ซม. ฝักรูปขอบขนาน ยาว 20-23 ซม. ก้านยาวประมาณ 1.5 ซม. มี 4-6 เมล็ด
ออกดอกในช่วงเดือน ตุลาคม – กุมภาพันธ์
เมื่อใบไม้สีทองออกดอก ใบที่เจริญเติบโตพร้อมกับช่อดอกจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีทอง กลุ่มใบที่มีสีทอง ขณะเป็นใบอ่อนจะมีสีชมพู บางทีก็เรียกสีนาค (ใช้เวลา 2 สัปดาห์) เมื่อใบแก่ขึ้นจะค่อย ๆ เปลี่ยน เป็นสีทองแดงหรือสีทอง (ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน) ระยะสุดท้ายจะเปลี่ยนเป็นสีเงิน (ใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน) ใบไม้จะเป็นสีทองในช่วงเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม
การขยายพันธุ์ ใดยการพาะเมล็ด ปักชำ และตอนกิ่ง ต้นใบสีทองนิยมปลูกทั่วไปเจริญเติบโตได้ดีในหลายพื้นที่ ชอบสภาพแวดล้อมที่มีแสงแดดทั้งวัน
นิยมนำใบสีทองนำมาใส่กรอบเป็นของที่ระลึกสวยงาม
อ้างอิง: สารานุกรมพืชในประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ที่มา : กลุ่มงานวิจัยพันธุศาสตร์ป่าไม้และพันธุ์พืชป่าหายาก