คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ อาทิ ลูกจ้างและกิจการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม และลดภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาวงเงินรวม 4.2 หมื่นล้านบาท ตามที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจเสนอ
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยเรื่องนี้ ผ่านบัญชีเฟซบุ๊กเมื่อ 13 ก.ค. ระหว่างการกักตัวที่บ้านพักหลังจากตกเป็นกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อจากงานเปิดตัว “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และการตัดสินใจของครม. เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากรัฐบาลประกาศบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด
มาตรการเยียวยาภายใต้วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1. มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สำหรับลูกจ้างและกิจการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม (กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา) ด้วยวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท
2. มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน สำหรับประชาชนทั่วประเทศ ในวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท
3. มาตรการความช่วยเหลือบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชนด้านอื่น ๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา และมาตราช่วยเหลือลูกหนี้ แต่ไม่ระบุวงเงิน
กลุ่มที่จะได้รับการเยียวยา
ในเวลาต่อมานายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่า กลุ่มแรกที่จะได้รับการเยียวยาตามมาตรการดังกล่าวประกอบด้วยกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการทั้งในและนอกระบบประกันสังคม ซึ่งมีระยะเวลาในการช่วยเหลือ 1 เดือน
นอกจากนี้ยังเพิ่มสาขาของกลุ่มที่จะได้รับการเยียวยาเพิ่มอีก 5 กลุ่มจากประกาศมาตรการเยียวยาครั้งที่แล้วตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ซึ่งครอบคลุมเพียงกลุ่มก่อสร้าง กลุ่มที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กลุ่มศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ และกลุ่มกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ
สำหรับกลุ่มที่เพิ่มเติมประกอบด้วย กลุ่มขายส่งและการขายปลีก ซ่อมยานยนต์ กลุ่มขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า กลุ่มกิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน กลุ่มกิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และกลุ่มข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
เยียวยาอย่างไร
ผลจากมติครม. ดังกล่าวมีรายละเอียดในส่วนมาตรการการเยียวยาในแต่ละกลุ่มดังนี้
1. ลูกจ้าง ม. 33 ในกิจการ 9 กลุ่มดังกล่าว จะได้รับเงินเยียวยาให้ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) และจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท
2. นายจ้าง ม. 33 ในกิจการ 9 กลุ่มดังกล่าว รัฐจะจ่ายให้ตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อราย สูงสุดไม่เกิน 200 คน
3. สำหรับผู้ประกันตนตาม ม. 39 และ 40 จะได้รับการช่วยเหลือค่าใช้จ่าย 5,000 บาทต่อคน
4. ผู้ประกอบอาชีพอิสระให้ขึ้นทะเบียนตาม ม. 40 ภายใน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท
5. ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างแต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือนก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามข้อ 1 และ 2
6. ผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมให้ขึ้นทะเบียนตาม ม. 40 ภายในเดือนก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)
7. ผู้ประกอบการภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะที่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือนก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามข้อ 1 และ 2
8. ผู้ประกอบการภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะที่ไม่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนตาม ม. 40 ภายในเดือนก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)
ลดค่าไฟ-น้ำให้ประชาชนทั่วไป
ภายใต้มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ประชาชนจะได้รับการลดค่าไฟฟ้าลงเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายเป็นระยะเวลา 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.) โดยมีรายละเอียดดังนี้
– บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
– บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป
- หากใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าไฟเดือนก.พ. ที่ผ่านมาให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้จริง
- หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าค่าไฟเดือนก.พ.ที่ผ่านมา หากไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยของเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
- หากใช้ 501-1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือนก.พ. 64 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ในอัตรา 50%
- หากใช้มากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือนก.พ. บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือนก.พ. ในอัตรา 70% ทั้งนี้ให้เป็นส่วนลดก่อนการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม
– สำหรับกิจการขนาดเล็กให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก
– สำหรับกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตรให้ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุดไปจนถึงสิ้นเดือนธ.ค. นี้
ส่วนค่าน้ำประปาจะถูกปรับลดลง 10% สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ระยะเวลา 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุอีกว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและลูกหนี้สถาบันการเงินนั้น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยจะหารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อดำเนินมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยหรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินด้วย ซึ่งหลังจากนี้ ครม. ยังมีจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือในระยะต่อไปโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศต่อไปด้วย
ส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษานั้น ครม. เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หารือกับสถานศึกษาในสังกัดเพื่อกำหนดแนวทางลดค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในภาคเรียนที่ 1 /2564 และให้จัดทำโครงการที่รัฐร่วมสมทบส่วนลดบางส่วนให้แก่สถานศึกษาให้เสนอครม. ภายใน 1 สัปดาห์ รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือปัญหาทางการเงินแก่สถานศึกษาเอกชนด้วย
ชาติที่ฉีดวัคซีนได้มาก เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่า
Oxford Economics หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจที่มีสำนักงานในฮ่องกงวิเคราะห์ว่า การระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำ บวกกับการเกิดภูมิต้านทานต่อไวรัสในระดับต่ำในพื้นที่
ผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระลอกล่าสุดยังส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อพฤติกรรมและแนวนโยบายของหลายเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีผู้ได้รับวัคซีนในอัตราน้อยกว่า 20% ของประชากร ในขณะที่รัฐบาลของหลายประเทศได้ใช้มาตรการเข้มงวด ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างล่าช้า หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจดังกล่าวจึงคาดการณ์การเติบโตของภูมิภาคนี้ยกเว้นจีนว่า มีแนวโน้มลดลงในปีนี้
สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในกรุงเทพฯ และอีก 9 จังหวัด และมีผลให้มีบางพื้นที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการเคอร์ฟิวด้วย จึงทำให้เกิดคำถามใหญ่ที่ว่า รัฐบาลจะสามารถบรรลุเป้าหมายจะเปิดโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัวและให้พวกเขาสามารถเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศภายในเดือนต.ค. ได้หรือไม่