การเดินทางไปยังถ้ำศิลป์นั้นจะต้องเดินเท้า ขึ้นบันไดที่สูงจากพื้นดิน 28 เมตร เพื่อไปชมความงดงามของจิตรกรรมเก่าแก่บนผนังถ้ำที่สันนิษฐานว่าเป็นภาพเขียนสมัยศรีวิชัยตอนปลาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20 ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังที่ถ้ำศิลป์แห่งนี้ได้รับการยกย่องว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นงานศิลปกรรมสมัยศรีวิชัยชิ้นเดียวที่เป็นภาพจิตรกรรมให้เราได้ชื่นชม ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ปูชนียบุคคลแห่งโลกศิลปะ พร้อมกับอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ นักโบราณคดี ได้ร่วมกันสันนิษฐานว่า ภาพเหล่านี้น่าจะเป็นฝีมือของช่างท้องถิ่น ที่ได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบของภาพโดยตรงจากอินเดีย ภาพที่พบทั้งภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นภาพคนล่าสัตว์ เขียนขึ้นด้วยสีดำ และจิตรกรรมฝาผนังภาพพระพุทธเจ้าปางมารวิชัย ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่ง เป็นแถวเบื้องซ้ายและขวา มีสาวกหรืออุบาสกอุบาสิกานั่งพนมมืออยู่ ภาพพระพุทธเจ้าปางลีลาและมีรูปผู้หญิงยืนเป็นหมู่สามคน ส่วนสีที่เขียนนั้นใช้สีดินเหลืองเป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วยสีน้ำตาลและแดง เพื่อแยกน้ำหนักอ่อนแก่แล้วตัดเส้นด้วยสีดำ อย่างไรก็ตาม สภาพของจิตรกรรมฝาผนังภายในถ้ำค่อนข้างลบเลือนไปมากแล้วตามกาลเวลา การชมถ้ำควรนำตะเกียงหรือไฟฉายติดตัวไปด้วย สามารถเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยสามารถแจ้งความจำนงกับครูใหญ่โรงเรียนบ้านบันนังลูวาที่อยู่ใกล้ถ้ำ ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษากุญแจประตูถ้ำไว้ ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ตำบลหน้าถ้ำ จังหวัดยะลา ตัวถ้ำอยู่ในภูเขาเดียวกันกับถ้ำพระนอน ไม่ไกลจากวัดคูหาภิมุข แต่ห่างจากถ้ำพระนอนไปทางหัวเขาทิศใต้ประมาณ 1.5 กิโลเมตร การเดินทาง : จากตัวเมืองยะลา ไปตามทางหลวงหมายเลข 409 แยกเข้าถ้ำศิลป์ประมาณ 10 กิโลเมตร สภาพถนนลาดยางจนถึงเชิงเขา มีบันไดให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปยังปากถ้ำได้โดยสะดวก