น้ำท่วม : เกษตรกรสวนทุเรียนในยะลาสูญนับล้าน หลังเขื่อนบางลางระบายน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก
เกษตรกรสวนทุเรียนเผยได้รับความเสียหายนับล้านบาท หลังเขื่อนบางลางระบายน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกในเขตจังหวัดยะลาและปัตตานีเมื่อเกือบสองสัปดาห์ก่อน
“ผลผลิตทุเรียนอย่างต่ำ 1 ต้น 1 หมื่นบาท 100 ต้นก็ 1 ล้านบาทต่อปี พอเกิดสถานการณ์แบบนี้ก็รู้สึกหมดแรงและเจ็บปวดมาก” อิมรอน อาลีมามะ เกษตรกรสวนทุเรียน กล่าว
อิมรอน อาลีมามะ เกษตรกรใน ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา เล่าว่า เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีสาขาด้านการเกษตร เมื่อ 5 ปีที่แล้ว พอเรียนจบก็กลับมาทำสวนที่บ้านเลย
“แรกเริ่มพื้นที่ตรงสวนนี้ ปลูกต้นลองกอง แต่ลองกองสมัยนั้นราคาไม่สู้ดีนักเลยโค่นทิ้งทั้งหมด จากนั้นก็ปลูกมะนาวแทน มะนาวก็เป็นโรคอีก ไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยมาปลูกทุเรียนต่อ ทุเรียนที่เห็นอยู่ปัจจุบันอายุประมาณ 4-5 ปี ปีที่แล้วเริ่มออกลูกแล้ว ปีนี้ก็หวังว่าน่าจะมีโอกาสได้ขายกับเขาบ้าง” อิมรอน เล่า
เขื่อนบางลางเปิดประตูระบายล้นวันที่ 6 -10 ม.ค. 2564 ประมาณ 120 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร
ที่มาของภาพ, Gooye Kuno
สภาพเมืองยะลาที่ถูกน้ำท่วมเมื่อ 8 ม.ค.
เพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ เขื่อนบางลาง ระบุว่า สืบเนื่องจากฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้น้ำเหนือเขื่อนบางลาง เพิ่มปริมาณมากเกินที่จะกักเก็บไว้ได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องระบายน้ำผ่านทางประตูระบายน้ำล้น เพื่อให้เกิดความสมดุลของปริมาณน้ำไหลเข้าและระบายออก เพื่อรักษาความมั่นคงของเขื่อนบางลาง
ชาวบ้านอีกคน กล่าวขณะสนทนากับอิมรอนว่า “เขื่อนระบายน้ำมากทำให้น้ำล้นตลิ่งออกมา พอล้นตลิ่งออกมาทำให้เส้นทางน้ำเดิมก็เปลี่ยนทิศ มวลน้ำตัดตรงมายังพื้นที่ทำการการเกษตรของชาวบ้านบริเวณนี้ทั้งหมด”
อิมรอน บอกว่า “พอสายน้ำเปลี่ยนทิศก็จะผ่านมาทางเส้นทางนี้ที่ที่เราอยู่ โซนที่เราอยู่นี้เสียหายกว่า 700 ไร่ ทั้งสวนทุเรียน มะนาว กล้วย และวัว”
ซีตีแอเซ๊าะ สูแว ชาวสวนในต.บาเจาะ อีกคน เล่าว่า “พระเจ้าเป็นผู้กำหนด เมื่อก่อนปลูกมะพร้าวเพื่อนบ้านบอกว่าให้ปลูกทุเรียนก็โค่นมะพร้าว แล้วมาปลูกทุเรียนตามที่เขาบอก เจอเหตุการณ์แบบนี้ ในวันที่เขาปล่อยน้ำออกมา ก็ไม่รู้จะทำยังไง”
ที่มาของภาพ, Gooye Kuno
สภาพพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายหลังน้ำลด
ด้าน อามีเน๊าะ อาลีมามะ ชาวสวน ต.บาเจาะ กล่าวว่า “ในสมัยท่วมใหญ่เมื่อปี 2557-2558 ก็ท่วมแล้วครั้งหนึ่ง ปลูกมะนาวกับทุเรียน ก็จมน้ำตายทั้งหมด หลังจากนั้นก็ปลูกทุเรียนขึ้นมาใหม่พอโตมา 5-6 ปี จะได้กินผลผลิตแล้วก็ต้องมาตายกับน้ำท่วมอีก แล้วเกษตรกรแบบเราทำยังไงดี”
วอนทบทวนการจัดการน้ำ
อิมรอน เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น แม้จะส่วนหนึ่งจะเป็นเพราะภัยธรรมชาติ แต่ก็อยู่ที่การบริหารจัดการน้ำด้วย
อิมรอน กล่าวว่า “มาเปิดสปิลเวย์ระบายน้ำเยอะ ๆ แบบนี้เกษตรกรเดือดร้อน โค่นทิ้งทั้งหมดแล้วปลูกใหม่ก็จะเอาทุนที่ไหนทำ ในส่วนของภาครัฐก็ใช้สูตรเดิมคือเยียวยา ไร่ละพันกว่าบาท เยียวยาแค่นั้นจะคุ้มค่าที่ลงทุนไหม”
“นี่ไม่ไช่ครั้งสองครั้งที่เกิด ภัยพิบัติแบบนี้เกิดขึ้นตลอด แต่ปีนี้น้ำท่วมเยอะมาก มวลน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนบางลางจะมานั่งโทษฟ้าโทษดินไม่ได้ ต้องกลับมาทบทวนในเรื่องของการจัดการน้ำว่าเป็นอย่างไรมากกว่า” อิมรอน กล่าว
กอนช.ปรับลดการระบายเขื่อนบางลาง
ในช่วงที่น้ำยังท่วมอยู่ เมื่อ 10 ม.ค. เว็บไซต์มติชนรายงานว่า นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ขณะนั้นไม่มีฝนตกในพื้นที่แล้วแต่ยังคงได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำออกสู่อ่าวไทย
ที่มาของภาพ, Gooye Kuno
สะพานบริเวณใกล้กับเขื่อนบางลาง เมื่อวันที่ 6 ม.ค.
“ปัจจุบันสถานการณ์น้ำที่เขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ณ วันที่ 10 มกราคม 2564 เวลา 06.00น. มีปริมาณน้ำ 1,439 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 99% ของระดับน้ำเก็บกัก อยู่ที่ระดับ 114.72 เมตรของระดับน้ำทะเลปานกลาง”
สำหรับ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำปัตตานี กรมชลประทานได้ใช้ระบบชลประทานในการหน่วงน้ำ ชะลอน้ำ พร้อมทั้งเร่งระบายน้ำช่วงน้ำทะเลลด เพื่อช่วยลดผลกระทบพื้นที่น้ำท่วม โดยการควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนปัตตานี ในอัตรา 42.13 ล้านลบ.ม.ต่อวัน และระบายผ่านทางประตูระบายน้ำฉุกเฉินอีกประมาณ 3.31 ล้านลบ.ม.ต่อวัน พร้อมกับตัดยอดน้ำเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่ 2 สาย รวมกันประมาณ 4.33 ล้านลบ.ม.ต่อวัน อีกทั้งได้บริหารจัดการน้ำด้านท้ายเขื่อนปัตตานี
จากรายงานของมติชนเมื่อ 10 ม.ค. มีพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมในยะลาจำนวน 7 อำเภอ 50 ตำบล 246 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,082 ครัวเรือน ส่วนในจังหวัดปัตตานี มีพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมจำนวน 7 อำเภอ 16 ตำบล 101 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 9,082 ครัวเรือน
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานมื่อ 14 ม.ค. ถึงสถานการณ์น้ำท่วม จ.ปัตตานี ว่า หลังจากที่เขื่อนบางลาง จ.ยะลา ได้หยุดการระบายน้ำ ประกอบกับฝนที่หยุดตกหลายวัน จึงทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีลงลดอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นตลิ่งบางพื้นที่ระดับน้ำลดลง มีเพียงพื้นที่ลุ่มต่ำหลายพื้นที่ อาทิ ต.คลองใหม่ อ.ยะรัง ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก และ อ.เมือง จ.ปัตตานี ยังคงมีน้ำท่วมสูง 1-2 เมตร ประชาชนหลายพันครอบครัวยังได้รับความเดือดร้อน และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาโรคที่มากับน้ำและสัตว์มีพิษจำนวนมากที่หนีน้ำเข้ามาอาศัยภายในบ้าน