พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานในพิธีมอบ “เทริดมโนราห์” สำหรับเชิญไปใช้เป็นเครื่องประกอบการแต่งกายสำหรับสวมศีรษะ
พุธที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16.54 น.
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 17 ก.พ. 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานในพิธีมอบ “เทริดมโนราห์” พระราชทาน แก่เด็กหญิงกัญญาณัฐ สังข์แก้ว ในนาม ตัวแทนกลุ่มเพื่อนๆ หนูน้อยมโนราห์จังหวัดยะลา จำนวน 6 ศีรษะ สำหรับเชิญไปใช้เป็นเครื่องประกอบการแต่งกายสำหรับสวมศีรษะในการแสดงมโนราห์ ซึ่งเป็นศิลปะพื้นบ้านประจำถิ่นภาคใต้ของประเทศไทย ณ ห้องศรียะลา ศาลากลางจังหวัดยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา
ทั้งนี้ ด้วยเด็กหญิงกัญญาณัฐ สังข์แก้ว ปัจจุบันศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนอนุบาลยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาในนามกลุ่มตัวแทนเพื่อน ๆ หนูน้อยมโนราห์จังหวัดยะลา ขอพระราชทาน “เทริด” สำหรับใช้เป็นเครื่องประกอบการแต่งกายสำหรับสวมศีรษะในการแสดงมโนราห์ ของกลุ่มเพื่อน ๆ หนูน้อยมโนราห์จังหวัดยะลา ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของเด็กและเยาวชนที่ส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางถึงยากจน มีความสนใจและตั้งใจที่จะสืบสานการรำมโนราห์ ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นภาคใต้ของประเทศไทย
โดยได้ร่วมเรียนและฝึกซ้อมการรำมโนราห์จากครูโนราห์จิตอาสา เพื่อเรียนรู้ สืบทอดการแสดงเผยแพร่วัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ใช้สถานที่วัดยะลาธรรมาราม ในการสอนและฝึกซ้อมรำ และได้รับความอนุเคราะห์เครื่องแต่งกายชุดมโนราห์จากเพจร่วมด้วยช่วยกัน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนเทริดแต่เดิมได้รับความอนุเคราะห์ยืมเทริดจากโรงเรียนเทศบาล 4 (ธนวิถี) จังหวัดยะลา
เทริด (อ่านว่า “เซิด”) ถือเป็นเครื่องประกอบการแต่งกายสำหรับสวมศีรษะของผู้แสดงมโนราห์ อันเป็นที่เคารพบูชาของชาวใต้ที่มีเชื้อสายการแสดงมโนราห์ ซึ่งเป็นศิลปะประจำภาคใต้ ตามคำบอกเล่าในสมัยโบราณได้กล่าวไว้ว่า ในอดีตมโนราห์ เคยได้รับพระราชทาน “เทริด” จากพระมหากษัตริย์ ซึ่งนับว่าเป็นของสูงศักดิ์ เป็นเกียรติแก่มโนราห์เป็นอย่างมาก ต่อมาเมื่อมีผู้แสดงมโนราห์มากขึ้น ครั้นจะให้พระมหากษัตริย์พระราชทานเทริดแก่มโนราห์ทุกคนก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่มโนราห์ต้องมีเทริด เป็นเครื่องประกอบการแต่งกายเป็นของตนเอง จึงมีผู้ทำเทริดขึ้นมา คล้ายกับรูปแบบของพระราชทาน
ปัจจุบันยังคงรูปแบบเดียวกับสมัยก่อน แต่มีการออกแบบที่หลากหลาย ที่เป็นเอกลักษณ์ของช่างในแต่ละพื้นที่หรือแต่ละจังหวัด การได้รับพระราชทานเทริดมโนราห์ในครั้งนี้ ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่เด็กหญิงกัญญาณัฐ กลุ่มเพื่อน ๆ หนูน้อยมโนราห์จังหวัดยะลา ศิลปินพื้นบ้าน รวมถึงผู้สืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของทางภาคใต้ทุกคนอย่างหาที่สุดมิได้
อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงใส่พระราชหฤทัยและทรงให้ความสำคัญกับศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ด้วยทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอดต่อไป รวมถึงทรงคำนึงถึงทุกข์สุขของราษฎรทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน หากมีความเดือดร้อน หรือความประสงค์ใดอันจะเป็นการสำคัญยิ่งที่จะให้เยาวชนของชาติเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี รักในบ้านเกิด รักในถิ่น ที่อยู่ของตนเอง รวมถึงรักในศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นต่าง ๆ ในประเทศไทย ให้มีผู้สืบสาน สืบทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านประจำท้องถิ่นเหล่านั้นให้คงอยู่สืบไป และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานความช่วยเหลือมาโดยตลอดมิได้ขาด.