เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 28 ธันวาคม 2565 เวลา 23:28 น.
ชาวบ้านรามัน กว่า 50 คน บุกยื่นหนังสือผู้ว่าฯยะลาขอความเป็นธรรม กรณีคณะกรรมการอิสลามจังหวัด สั่งปลด 5 อิหม่ามจัดละหมาดอีดิ้ลอัฎฮาฝ่าฝืนคำประกาศจุฬาฯ อ้างยึดตามประเทศซาอุฯ หวั่นสร้างความสับสนและความแตกแยกในหมู่มุสลิม
วันพุธที่ 28 ธ.ค.65 ได้มีประชาชนจากในพื้นที่ ต.ยะต๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา จำนวน กว่า 50 คน เดินทางเข้าศาลากลางจังหวัดยะลา เพื่อมายื่นหนังสือร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดยะลาถึงผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ให้คืนความยุติธรรมแก่อิหม่ามประจำมัสยิดในพื้นที่ จ.ยะลา หลังจากคณะกรรมอิสลามประจำจังหวัดยะลาให้พ้นจากตำแหน่งอิหม่ามประจำมัสยิด ด้วยเหตุไม่เคารพต่อผู้นำ โดยมี พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน
สืบเนื่องจากการละหมาดอีดิ้ลอัฎฮา (ละหมาดรายอฮัจญ์) ประจำปี 2565 ที่ผ่านมา ตามคำประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี ที่ให้จัดละหมาดรายอฮัจญ์ ในวันที่ 11 ก.ค.65 ซึ่งให้มีผลทั่วประเทศไทย แต่ยังเกิดการปฏิบัติที่ไม่ตรงกันในบางพื้นที่ จนนำไปสู่ความสับสนให้มุสลิมทั่วในประเทศว่า เกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะบางมัสยิดได้จัดละหมาดรายอฮัจญ์ ในวันที่ 10 ก.ค.65 แล้วอ้างเหตุผลว่า ปฏิบัติตามคำประกาศของประเทศซาอุดีอาระเบีย
จึงทำให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาภายใต้การนำของนายอิสมาอีล ฮารี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา มีมติเห็นชอบให้ผู้มีรายชื่อต่อไปนี้ พ้นจากตำแหน่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.65 เป็นต้นไป ประกอบด้วย
1.นายอาซิ หะยีสะมะแอ อิหม่ามประจำมัสยิดอาร์ดิลมุสลีมีน ทะเบียนเลขที่ 132 บ้านบาโงบาแด หมู่ที่ 5 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา
2.นายมะหะมะสุกรี มะเซ็ง อิหม่ามประจำมัสยิด นูรุลฮาญีริน ทะเบียนเลขที่ 453 ตลาดเมืองใหม่ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา
3.นายอาหะมะ ซาและ คอเต็บประจำมัสยิดนูรุลฮูดา กำปงปายอ ทะเบียนเลขที่ 471 บ้านปายอ หมู่ที่ 2 ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา
4.นายมูซครีย์ มะลี บิหลั่นประจำมัสยิดนูรุลฮูดา กำปงปายอ ทะเบียนเลขที่471 บ้านปายอ หมู่ที่ 2 ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา
5.นายหะรง สะกะแย อิหม่ามประจำมัสยิดดารุลนาอิม ทะเบียนเลขที่ 152 หมู่ที่ 3 ต.ยะต๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 11.00 น มีตัวแทนประชาชนในพื้นที่บ้านตะโล๊ะ ม.3 ต.ยะต๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา ได้นัดรวมตัวกันที่ว่าการอำเภอรามัน เพราะไม่พอใจกับการปลดอิหม่ามและได้ยื่นหนังสือไปยังนายอำเภอรามัน และนำมวลชนเคลื่อนย้ายไปยังศาลากลางจังหวัดยะลา เพื่อยื่นหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดยะลา เพื่อยับยั้งคัดค้านการไล่ออกอิหม่ามดังกล่าว
โดยทางกลุ่มได้ระบุว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญไทยตามมาตรา 31 พร้อมเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองอีกด้วย
นายอาแสบาสอรี ดูเจะกอ ตัวแทนชาวบ้าน ม.3 ต.ยะต๊ะ อ.รามัน กล่าวว่า เป็นตัวแทนชาวบ้านมาร้องความเป็นให้กับอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านยะต๊ะ ต.ยะต๊ะ อ.รามัน ที่โดนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา มีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากละเมิดคำสั่งไม่ทำตามผู้นำและระเบียบคณะกรรมการอิสลามกลางแห่งประเทศไทย ซึ่งพวกเราได้ประชุมกับชาวบ้านแล้วว่า การลงโทษไล่พ้นจากตำแหน่งมันรุนแรงเกินไป เพราะอิหม่ามเป็นคนทำงานมีกิจกรรมมากมายในพื้นที่ พวกเราไม่สบายใจในคำสั่งนี้และต้องการคืนความเป็นธรรมให้กับอิหม่าม พร้อมขอให้ทางจังหวัดยะลาได้ชี้แจงกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาอีกทางหนึ่ง เพื่อให้บทลงโทษที่เบากว่านี้
ส่วนกลุ่มชาวบ้านที่มาร่วมตัวเรียกร้องความเป็นธรรมให้อิหม่าม ได้กล่าวถึงกรณีการละหมาดรายอฮัจญ์ที่ผ่านมาว่า มันเป็นความต้องการของประชาชน เป็นความเห็นต่าง เราก็มีสิทธ์ที่จะทำตามเรา เพราะเรื่องการศาสนกิจเป็นเรื่องของความมั่นใจและเชื่อว่า จะไม่เกิดความแตกแยกในหมู่คนจำนวนมาก
ด้านคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ได้กล่าวถึงการปลดอิหม่ามทั้ง 5 คน ว่า ทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา มีกฎและพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2550 องค์กรทางศาสนาอิสลาม คณะกรรมการ กรรมการหรือผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
“ในส่วนประเด็น ที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ให้พ้นจากตำแหน่ง ทั้ง 5 คนนั้น เพราะว่า ละเมิดระเบียบของคณะกรรมการอิสลามกลางแห่งประเทศไทย และไม่ไม่เคารพผู้นำ ส่อเกิดการแตกแยกในพื้นที่มุสลิม โดยทางคณะกรรมการได้ตักเตือนมาหลายครั้งแล้ว เพื่อให้พิจารณาตนเอง แต่ทั้ง 5 คนกลับไม่ปฏิบัติ จึงได้ลงโทษด้วยการให้พ้นจากตำแหน่ง พร้อมให้อุทธรณ์ได้กับคณะกรรมการอิสลามกลางแห่งประเทศไทย ภายใน 30 วัน”
ขณะที่แหล่งข่าวในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวอีกว่า ในเมื่อกลุ่มชาวบ้านต้องการละหมาดหรือทำศาสนกิจตามใจชอบ ก็ควรมาถอดถอนทะเบียนมัสยิดออกจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา หากอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการอิสลามฯก็ต้องภายใต้กฎระเบียบ