เขียนวันที่
วันเสาร์ ที่ 29 ตุลาคม 2565 เวลา 21:40 น.
เมื่อเร็วๆนี้ ทางมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ถอดบทเรียน “โครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสามจังหวัดชายแดนใต้” ที่ห้องประชุมเพนดูลา โรงแรมปาร์คอินทาวน์ อ.เมือง จ.ปัตตานี โดยมีตัวแทนผู้นำชุมชน องค์กรพันธมิตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน
ภายในงานมีการจัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ของ 6 ชุมชนต้นแบบ, การนำเสนองานวิจัยผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, การนำเสนอตัวอย่างธุรกิจขนาดเล็กของเยาวชนแรงงานคืนถิ่นจากประเทศมาเลเซีย และการฉายภาพยนตร์รณรงค์สร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกันในช่วงการระบาดของโควิด-19
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการถอดบทเรียน นำเสนอผลงานและความสำเร็จของ “โครงการรับมือและฟื้นฟูผลกระทบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสามจังหวัดชายแดนใต้” หรือ EU COVID-19 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ก.ค.63 โดยมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตอาสาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) เพื่อส่งเสริมองค์กรภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา (อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย)
ในปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการสำเร็จอย่างน่าพอใจ ผลของการดำเนินโครงการได้ช่วยส่งเสริมพัฒนาการฝึกอบรมทักษะชีวิตและทักษะอาชีพให้แก่กลุ่มเยาวชนแรงงานคืนถิ่นในพื้นที่กว่า 250 คน ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้รับการช่วยเหลือฉุกเฉินกว่า 720 ครัวเรือน ประชากรกว่า 10,000 คน
ทั้งได้รับความรู้จากการผลิตสื่อและการรณรงค์ด้านการป้องกันและการลดการติดเชื้อโควิด-19 โดยกลุ่มเด็กและเยาวชน และผลจากการวิจัยหัวข้อผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมจากเชื้อโควิด-19 ได้นำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายในการรับมือและการลดผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
“โครงการนี้นอกจากจะฝึกอบรมทักษะอาชีพให้เราแล้ว ยังส่งเสริมการฝึกทักษะชีวิต ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต และยังสร้างโอกาสให้เราทำตามความฝันในการทำธุรกิจ เพื่อพัฒนาชีวิตเราและครอบครัวของเรา” ฮาซียะ หะยีเจ๊ะมุ เยาวชนที่ได้รับทุน SED Fund ภายใต้โครงการ EU COVID-19 กล่าว
ฮาสือนะ แรงงานต้มยำกุ้งที่ไปทำงานในมาเลเซียกว่า 10 ปี มีรายได้ส่งกลับมาให้เแม่และลูกสาวของเธอตลอดมา กระทั่งปี 63 ที่โควิดระบาดหนัก มาเลเซียประกาศปิดประเทศ ร้านอาหารที่เธอทำงานอยู่ก็ต้องปิดตัว ทำให้เธอและลูกสาว 2 คนที่ไปทำงานด้วยก้นต้องรีบกลับมายังบ้านเกิดเพื่อรอดูสถานการณ์ จน ฮาสือนะ มาเปิดร้านขายอาหารเช้าและขนมในช่วงกลางวัน แต่รายได้ไม่เพียงพอกับสมาชิกในบ้านที่มีถึง 7 คน พร้อมกับถูกประกาศปิดหมู่บ้านเพราะเป็นพื้นที่เสี่ยง
เธอพยายามหางานทำเพิ่ม จนได้งานที่ร้านขายของชำ เมื่อทีมงานบัณฑิตอาสาลงพื้นที่หาข้อมูล ได้คัดเลือกให้เธอได้รับเครื่องอุปโภคบริโภคจากทางโครงการฯ เธอขอบคุณโครงการฯ และหวังจะกลับไปทำงานในมาเลเซียเพื่อเป็นรายได้หลักของครอบครัว
“การมีอาชีพเป็นของตนเองคือ การเสริมพลังภายในที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี ในความเป็นมนุษย์ที่เสมอภาคกัน” ตัวแทนเยาวชนจาก N-WAVE เยาวชนสร้างอาชีพเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ บอก
ส่วน ซุลกิฟลี เจ๊ะดาแม็ง จากสาขาตัดผม บอกว่า อยากสอนให้คนในชุมชนตัดผมได้ แล้วขยายสาขาไปที่ยะลาและนราธิวาสด้วย